ที่ กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนชั่วคราว (มาตรา 83) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยพล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล ซึ่งตามแนวทางเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนด(พรก.)การประมง พ.ศ. 2558 อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) หนังสือเดินทางชั่วคราว หนังสือรับรองสถานะบุคคล หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ที่ยังไม่หมดอายุ อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานในกิจการประมงทะเล เป็นเวลา 1 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เป็นใบอนุญาตทำงาน
ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโดยได้ข้อสรุปว่า ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561-31 มกราคม 2562 จะเปิดให้นายจ้างในกิจการประมงทะเลได้เดินทางเข้ามาแจ้งความประสงค์ เพื่อแจ้งยอดจำนวนความต้องการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ในภาคประมงที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดติดชายทะเล หลังจากนั้นวันที่ 3 ธันวาคม 2561–31 มกราคม 2562 จะเป็นการเปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (oss) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดติดชายทะเล เพื่อให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีหนังสือเดินทางหนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองบุคคล หรือเอกสารเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ ที่เข้าประเทศมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องเป็นแรงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เข้ามาแจ้งความประสงค์ที่จะทำงานในกิจการประมง พร้อมยื่นเอกสารเพื่อทำหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ซึ่งจะใช้เป็นใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ในศูนย์ดังกล่าวจะมีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าหน้าหลักในการดำเนินการ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ
“ขั้นตอนการดำเนินการภายในศูนย์ oss จะประกอบไปด้วย 1. จัดทำทะเบียนประวัติ โดยสำนักงานทะเบียนอำเภอหรือท้องถิ่น 2. ตรวจสุขภาพ โดยโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุข 3. ตรวจสอบสัญญาจ้าง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 4. สแกนม่านตา โดยสำนักงานจัดหางาน 5. ทำ Seabook ชั่วคราว ใช้ร่วมเป็นใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) โดยสำนักงานประมงจังหวัด และ 6. รับบัตรสีชมพู ที่สำนักทะเบียน (ต้องมีใบรับรองแพทย์ ทร.38/1 และ Seabook มาแสดง)” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง (MOU) จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา ซึ่งมีเป้าหมายจำนวน 42,000 คน ผลการดำเนินการยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงาน 14,322 คน ส่งเรื่องไปดำเนินการสถานทูต 9,614 คน ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานแล้ว 1,772 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งในขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานได้มีการเร่งรัดติดตามผล ในส่วนของขั้นตอนว่ามีการดำเนินการติดขัดในส่วนใดบ้าง เบื้องต้นทราบว่าส่วนจำนวน 9,614 คนยังมีปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงต้องใช้ระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดความล่าช้า