ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทย ผ่านเพจ “รัชดา ธนาดิเรก ” โดยตั้งชื่อเรื่อง “ว่า… วันเด็ก วันครู ปัญหาการศึกษาอยู่คงทน คนจนไม่มีวันหมดถ้าการศึกษายังเหลื่อมล้ำ : เสียดายอำนาจล้นฟ้า”
ดร.รัชดากล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ ที่ประชาชนคาดหวังว่ารัฐบาล คสช. จะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้หลังจากผิดหวังจากรัฐบาลเลือกตั้งมาหลายปี เพราะมีปัจจัยเอื้อทั้งอำนาจที่เบ็ดเสร็จ และความต่อเนื่องทางการเมืองน่าจะทำให้ก้าวข้ามเสียงต่อต้านต่างๆและข้อติดขัดในระบบราชการได้ไม่ยาก
แต่เข้าปีที่ 4 แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น เห็นแต่
1.การตั้งคณะกรรมการเกี่ยวข้องปฏิรูปการศึกษา 5 ชุด
2.เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการ 3 คน รัฐมนตรีช่วยฯ 5 คน
3.การสร้างความขัดแย้งในบทบาทระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กับศึกษาธิการจังหวัด (สธจ.)
4.ปัญหาเด็กไทยไม่เรียนต่ออาชีวะ หลักสูตรอาชีวะ และความสามารถอาจารย์ไม่สอดคล้องกับโลกอนาคต
5.นโยบายที่ไม่ต่อเนื่องและไม่ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ดูได้จากนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เป็นแต่การพูดลอยๆให้ดูเป็นของใหม่ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงอะไร โครงการโรงเรียน ICU ที่ตั้งเป้าแก้ปัญหาโรงเรียนเล็กที่อยู่ในระดับวิกฤต 15,000 แห่งที่ประสบปัญหา เช่น ขาดครู ผลการเรียนต่ำ เด็กติดยาเสพติด ขาดห้องน้ำ ห้องสมุด อุปกรณ์กีฬา โครงการเริ่มไปได้หนึ่งปีอุดหนุนงบประมาณไปได้ 5พันโรงเรียน โครงการนี้ก็ต้องยุติลง และที่ดำเนินการไปก็แค่การจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะหวังได้อย่างไรว่าเด็กไทยจะได้รับการศึกษาที่สอดรับกับยุคศตวรรษที่21 ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ยากขึ้นมาก เด็กต้องมีทักษะทั้งคิดแยกแยะ คิดสร้างสรรค์ อดทน เก่งเทคโนโลยี มีความใฝ่รู้ตลอดชีวิต มีทักษะในการใช้ชีวิต แต่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ยังใช้ของปี2551โดยไม่ได้มีการปรับปรุง แม้เนื้อหาจะเขียนออกมาดูดี แต่เมื่อเชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริงแล้ว ก็ยังไม่ได้ให้เกิดการบูรณาการรายวิชา เด็กยังต้องเรียนมากวิชา การประเมินก็เน้นการท่องจำมากกว่าการสร้างสรรค์อยู่ดี
ดร.รัชดากล่าวทิ้งท้ายว่าหากไม่สามารถยกระดับคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ความฝันที่จะทำให้คนจนหมดประเทศของรัฐบาลนี้จะเป็นจริงได้อย่างไร มีแต่จะทำให้คนจนมีมากขึ้น และประเทศไทยก็อาจตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทันในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงสูงเช่นนี้