DSI บุกจับ”ชวนหลิง จาง”ผู้ถือหุ้น 49% บ.ไชน่าเรลเวย์ NO.10 โยงตึกสตง.ถล่ม !!

148

DSI จับกุม นายชวนหลิง จาง ผู้ถือหุ้น 49% ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ยังพบมีสัญญาอีก 11 สัญญา ซึ่งมีชื่อของคนไทย

วันนี้ (19 เม.ย. 68) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงข่าวจับกุม นายชวนหลิง จาง กรรมการผู้ถือหุ้น 49% ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มลงมา ในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) ภายหลังศาลอาญา อนุมัติหมายจับนายชวนหลิง จาง พร้อมผู้ถือหุ้นคนไทยในบริษัทรวม 4 คน

พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่พิสูจน์ได้แล้ว จำนวน 74 ราย บาดเจ็บ 9 ราย ในส่วนของการดำเนินคดี มีการดำเนินคดีอยู่สองหน่วยงานคือดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้บูรณาการร่วมกัน โดยในวันนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้รองอธิบดี ไปขอศาลออกหมายจับ จำนวนสี่ราย ซึ่งผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นคนไทย 3 ราย ส่วนอีก 1 ราย เป็นชาวต่างชาติ และนิติบุคคลอีกหนึ่งราย คือบริษัทไชน่าฯ ในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) ซึ่งหากจะเป็นการประกอบธุรกิจของต่างด้าวจะต้องมีคนไทยถือหุ้น 51% และต่างด้าวถือหุ้น 49% ซึ่งเรามีการสอบสวน และหลักฐานเชื่อได้ว่า บริษัทได้นำคนไทยจำนวน 3 คน ที่เราอยู่ระหว่างการติดตามไปถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เนื่องจากเรามีหลักฐานทางการเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ที่กู้ยืมกับกรรมการบริษัทที่เป็นคนจีน

และเรื่องนี้คือปฐมบทที่เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าว เข้าทำสัญญากับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในรูปแบบกิจการร่วมค้า ส่วนอีก 2 เรื่องที่ดีเอสไอรับทำอยู่ คือ การประมูลงาน ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) นั้น อยู่ระหว่างดำเนินการว่าเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ ซึ่งจะต้องทำอย่างรอบคอบ เนื่องจากหากเป็นต่างด้าว อำพรางนอมินี มาร่วมกันทำสัญญากับ สตง. ก็จะเข้าความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 7 คือ เป็นการใช้กลอุบาย หรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเพื่อให้ได้มา ซึ่งเป็นนอมินีนั้น เราก็จะต้องตรวจสอบว่าเข้าข่ายการใช้อุบายหรือไม่ เพราะหากไม่มีบริษัทไชน่าฯ นั้น บริษัทอิตาเลียนไทยฯ จะสามารถทำได้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่เราอยู่ระหว่างการสืบสวน

อีกทั้ง ในกระบวนการเราก็จะต้องสอบลึกลงไป เช่น เราพบว่ามีสัญญาออกแบบ ที่เป็นเรื่องของ สตง. และผู้ทำสัญญาโดยตรง เราจึงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ทั้งวิศวะ และสถาปนิก รวมถึงยังมีอีก 1 สัญญา คือสัญญาการควบคุมงาน ซึ่งเราได้สอบปากคำไปเยอะแล้ว และวิศวกรที่ควบคุมงานส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธว่ามีการปลอมลายเซ็น ขณะที่นอมินี 3 คนไทย นั้น พ.ต.อ.ยุทธนา ระบุว่า อยู่ระหว่างการติดตาม โดยยืนยันว่ายังอยู่ในประเทศไทยทั้ง 3 คน โดยทั้ง 3 คน ถือหุ้นร่วมกันที่ 51% ในบริษัท แต่เราพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ถือด้วยตัวเอง แต่เป็นการอำพรางของบุคคลต่างด้าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัญญาอีก 11 สัญญา ซึ่งมีชื่อของคนไทยที่ไปร่วมมีมากกว่านั้น เราจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดูแล แต่ขณะนี้ดีเอสไอก็จะขอทำเรื่องตึกอาคาร สตง. ที่เป็นเหตุให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก