‘กัณวีร์’ แนะ ‘อันวาร์’ จะสร้างสันติภาพในเมียนมาต้องคุยกับทุกผู้มีส่วนได้เสีย ซัด “มินอ่องหล่าย” คิดฟอกขาว จัดเลือกตั้งทั้งที่ยังขังนักการเมืองคู่แข่ง

109

กรุงเทพฯ วันที่ 18 เม.ย นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน และได้หารือกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำเมียนมา รวมถึงผู้นำรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น และนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ว่าอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ทั้งสองผู้นำที่อยากจะเป็นผู้สร้างสันติภาพ และกองเชียร์ควรเผื่อใจอาจถูกมินอ่องหล่าย หลอกได้ เนื่องจากการอภัยโทษล่าสุดโดยรัฐบาลเมียนมา เป็นการอภัยโทษตามประเพณี Thingyan หรือสงกรานต์ของเขา และนักโทษมากกว่า 90% ก็เป็นนักโทษเด็ดขาดที่ต้องคดีอาญาทั่วๆ ไป โดยมีนักโทษทางการเมืองน้อยมาก

นายกัณวีร์ ระบุว่า ขณะนี้นักโทษทางการเมืองของเมียนมาตั้งแต่รัฐประหาร มีจำนวน 22,197 คน ที่ยังถูกขังอยู่ แต่มินอ่องหล่าย ประกาศจะเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่นักการเมืองพลเรือน เช่น นางอองซาน ซูจี และผู้นำทางการเมืองฝ่ายพลเรือนหลายคน ยังถูกจองจำอยู่ เช่นนี้เป็นหลักการประชาธิปไตยได้อย่างไร ถือเป็นการจัดเอง เลือกกันเอง และฟอกขาวกันเอง โดยมีไทยและประธานอาเซียนช่วยฟอก

“การสร้างสันติภาพมันไม่ใช่คิดอยากสร้างก็ลุกขึ้นมาสร้าง จับมือกับคนที่รู้จักแล้วคิดไปว่าจะทำได้ มันมีหลายองค์ประกอบ อันแรกกลไกที่จะมาสร้างสันติภาพ คืออาเซียน มีปัญหาในหลักการที่ไม่สามารถนำไปใช้ในการสร้างสันติภาพได้ เพราะหลักการสำคัญของอาเซียนคือ การไม่แทรกแซง (non-interference) แต่การสร้างสันติภาพ มันคือ การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ (constructive intervention/engagement) เพราะฉะนั้น จึงผิดจุด ตั้งแต่แรกครับ”

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการพูดคุยกับทุกฝ่าย ถือว่าดีขึ้นที่ผู้นำมาเลเซีย ไหวตัวทันขอคุยกับนายกฯ NUG เป็นครั้งแรก แต่ต้องดูผลว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ต้องภาพรวมด้วยว่ายังมีผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) อื่นอีกหรือไม่ แล้วจะเข้าไปคุยกับพวกเขาอย่างไร

สส.เป้นธรรมตั้งคำถามว่า หากอาเซียนไม่ใช่คำตอบ ใครจะเป็นเบ้าหลอมการพูดคุยและเจรจาในเมียนมา ใครมีภูมิรัฐศาสตร์ที่เหมาะสมที่สุดในการทำงานชิ้นนี้ และพอทราบแล้วตัวบุคคลที่จะเป็นคนกลางจริงๆ ในการที่ทำให้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดไว้วางใจ และพร้อมมาร่วมนั่งคุยอย่างเปิดอก โดยกลไกที่จะมาเสริมนี้ต้องไม่มาวางอิทธิพลเหนือการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา แต่ต้องร่วมสนับสนุนกระบวนการที่นำโดบประชาชน/ประเทศ เมียนมา (people-led/Myanmar-led process) เท่านั้น

“ประเด็นใหญ่นะครับ เพราะมันกระทบทุกประเทศในภูมิภาค สถานการณ์ในประเทศเมียนมาที่ถูกหลายคนด้อยค่าว่าเราอย่าเข้าไปยุ่งกับเขาเลยปล่อยให้เขาสู้กันเองเถอะ มาดูแต่บ้านเราดีกว่า คงทำไม่ได้อีกต่อไป เพราะคนทั้งโลกให้ความสำคัญแล้ว หากไทยยังนิ่งเงียบและไม่มีจุดยืนทางการทูตใดๆ ไทยนี่แหละจะมีผลกระทบทางลบมากที่สุด เพราะเราจะไม่สามารถวางแผนอะไรล่วงหน้าได้เลย เราจะทำแค่วิ่งตามปัญหาเท่านั้น” นายกัณวีร์ กล่าว