ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 เม.ย. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมคณะเข้ารายงานผลการสอบข้อเท็จจริงเหตุอาคาร สตง.แห่งใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยยืนยันและให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า กฎหมายของไทยที่ใช้สำหรับการก่อสร้างอาคารและตึกต่าง ๆ ในปัจจุบันมีความเข้มงวด และครอบคลุมรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว หากเกิดแผ่นดินไหวในระดับเดียวกับที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลให้เกิดอาคารถล่ม เห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาคารส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง มีเพียงอาคารที่ถล่มเพียงแห่งเดียว ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และมีข้อสงสัยหลายประเด็นที่สำคัญมาตั้งแต่ต้น รวมถึงในกระบวนการตรวจสอบ และขณะนี้ ไซด์งานที่เกิดเหตุยังอยู่ระหว่างการเคลียร์พื้นที่ โดยได้รับรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการดำเนินการดังกล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปว่า มีการมอบหมาย คณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 4 สถาบันการศึกษา และกรมโยธาธิการและผังเมือง ต่างคนต่างจัดทำแบบจำลองเหตุการณ์ (โมเดล) จำลองสภาพจริงของอาคารสำนักงานฯ สตง. (แห่งใหม่) กับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพื่อค้นหาสาเหตุว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้อาคารถล่มลงมา

“รัฐบาลจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่ละสถาบันจะจัดทำแบบจำลอง เพื่อการวิเคราะห์ขั้นสูงโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน ซึ่งการดำเนินการโดย 4 สถาบันการศึกษา และกรมโยธาธิการและผังเมือง จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อสร้างความร่วมมือและความโปร่งใส ทำให้ประชาชนมั่นใจว่า มีการใช้คณะวิศวกรรมศาสตร์แต่ละสถาบันในการวิเคราะห์ เพื่อจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเชื่อถือได้” น.ส.แพทองธาร กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยต่าง ๆ ที่ได้รับรายงานมา ต้องรอให้มีความชัดเจนกว่านี้ก่อน โดยเมื่อเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างภายใน 1 เดือน จะได้ข้อมูลที่เพิ่มเติมจากพื้นที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบมีความสมบูรณ์มากขึ้น และอีกประเด็นสำคัญจากการประชุม คือการทบทวนกระบวนการตรวจสอบอาคาร และสิ่งปลูกสร้างใหม่ทั้งหมด ทั้งในภาคเอกชนและหน่วยงานราชการ รวมถึงการพิจารณาทบทวนขั้นตอนการอนุมัติในด้านต่าง ๆ ว่ามีความปลอดภัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งสิ่งที่จะดำเนินการมี 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) ทำให้กระบวนการมีความคล่องตัว และตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น 2) เพิ่มมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับอาคารในอนาคตอีก

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ครอบครัวผู้สูญเสีย สภาพจิตใจของพี่น้องประชาชน และความเชื่อมั่นต่อการทำงานภาครัฐ มาตรการที่ทำทุกอย่างจากนี้ต้องเด็ดขาด ตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้ตรวจรับอาคาร บริษัทที่ผลิตวัสดุก่อสร้าง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หากพบการกระทำผิด จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งการประชุมวันนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้เข้ามารายงานการตรวจสอบ พบหลักฐานแสดงถึงข้อสงสัยหลายข้อ จะต้องใช้เวลาตรวจสอบต่อไป โดยทางคณะกรรมการฯ จะร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 4 สถาบันการศึกษาและกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำโมเดลเพื่อตรวจสอบการถล่มของตึกอย่างชัดเจนใน 90 วัน โดยระหว่างนี้ ขอให้ทบทวนกระบวนการตรวจสอบตึกทั้งเอกชนและราชการ เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งต่อผู้ใช้อาคารเองและความมั่นใจต่อพี่น้องประชาชน” นายกรัฐมนตรี ย้ำ