ที่อาเซอร์ไบจัน วันที่ 5 เมษายน นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ตอบโต้กรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม ออกมาระบุว่ามีแต่นายกัณวีร์ ที่กังขาต่อ การที่รัฐบาลไทยเชิญพลเอกอาวุโสมินอ่องลาย ผู้นำเมียนมา เข้าร่วมประชุม BIMSTEC โดยนายกัณวีร์ ระบุว่าไม่ใช่มีแค่ตนที่กังขาเรื่องนี้ แต่พรรคเพื่อไทยในอดีตก็ยังกังขาเรื่องนี้พร้อมโพสต์ภาพข้อความที่พรรคเพื่อไทยเคยออกมาประณามการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อปี 2564 ทั้งนี้เขาจะกังขาไปเรื่อยๆ เพราะพรรคเพื่อไทยยังไม่เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังงงอยู่กับจุดยืนทางการทูตที่ไทยพึงมีตาม Double-edged Diplomacy

นายกัณวีร์ ระบุว่า ไทยไม่ควรสร้างสันติภาพแบบเบี้ยวอย่างที่กำลังจะทำ การจับแต่มือที่เปื้อนเลือดของเผด็จการที่เข่นฆ่าประชาขน โดยขาดความมีส่วนร่วมของกลุ่มอื่นๆ ทั้งกลุ่มรัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมาก่อนถูกรัฐประหาร ต้องลี้ภัยอยู่ทั่วโลกและประเทศไทย รวมถึงกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ยังไม่รวมเรื่องที่ทหารเมียนมาละเมิดข้อตกลงหยุดยิง “ขณะที่เข้าร่วม BIMSTEC อยู่ตอนนี้ คุณคุยไม่ได้หรอก โดยไม่พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พูดถึงแผ่นดินไหว แต่ไม่พูดถึงการเข่นฆ่าประชาชน ที่เป็นช้างตัวใหญ่เบ่อเร่อในห้อง”
นายกัณวีร์ เปิดเผยว่าตนเองได้เดินทางมายังประเทศอาเซอร์ไบจัน เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการด้านการส่งเสริมการเคารพต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม (กมธ.IHL) ของ รัฐสภาโลก หรือ IPU ซึ่งภารกิจที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือการทำข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ IHL ต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมาโดยใช้หลักการและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ “ผมเคยเสนอต่อ กมธ.IHL ของ IPU ในหลักการเมื่อการประชุมครั้งที่แล้วว่าเราควรใช้กลไกรัฐสภาประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาเพื่อผลักดันทางฝ่ายนิติบัญญัติต่อกระบวนการสร้างประตูมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) และโซนปลอดภัย (Safety Zone) ที่ปราศจากการปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่ชายแดนทั้งหมด”

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า ได้ร่างข้อเสนอไว้เรียบร้อย และเตรียมนำส่ง กมธ.IHL ของ IPU ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของมิน อ่อง ลาย ในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องน่าอับอายที่ผู้นำของไทยจับมือกับผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา ที่ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงคราม และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยไม่แสดงบทบาทในการสร้างสันติภาพในเมียนมา และเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ผู้นำประเทศในอ่าวเบงกอล ก็ไม่ได้แสดงท่าทีต่อการเรียกร้องเมียนมาต่อการเปิดประตูมนุษยธรรมและการสร้างสันติภาพในเมียนมา หรือแม้กระทั่งการคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

“ผมติดตามการแถลงข่าวผลการประชุม BIMSTEC และการหารือทวิภาคีของนายกรัฐมนตรีไทยกับผู้นำเมียนมา น่าผิดหวังยิ่งไปอีก ที่ไม่มีการพูดถึงการสร้างสันติภาพใดๆ แม้การค้าการลงทุน การแก้ปัญหาชายแดน อาชญากรรมไซเบอร์ และการค้าอาวุธผิดกฏหมายจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่การไม่พูดถึงปัญหาที่รัฐบาลเมียนมายังคงเข่นฆ่าประชาชนหลังการรัฐประหาร หรือการแสวงหาแนวทางสันติภาพร่วมกัน ก็ยิ่งสร้างความผิดหวังต่อบทบาทของประเทศไทยอย่างมาก” นายกัณวีร์ กล่าว และยืนยันว่า จะพยายามที่จะใช้เวทีของฝ่ายนิติบัญญัติในเวทีรัฐสภาโลกให้เกิดประโยชน์เพื่อแสวงหาแนวทางในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนให้กับเมียนมา ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงกับประเทศไทย