สสว. ชี้แผ่นดินไหว ทำ SME เสียหาย 4 พันล้าน อสังหาฯ อ่วมสุด 2.1 พันล้าน สงกรานต์น่าห่วง นทท.อาจหนีไปที่อื่น

132

จากกรณีแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบกับประเทศไทยเป็นวงกว้าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ประเมินาความเสียหายรวมประมาณ 4,068 ล้านบาท 18 จังหวัดได้รับผลกระทบ และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลัก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 2,168 ล้านบาท สาเหตุจากค่าใช้จ่ายซ่อมแซมและปรับปรุงอาคาร แม้บางอาคารจะมีประกันก็ตาม นอกจากนี้ในระยะสั้นธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม และร้านค้าปลีก ยังประสบปัญหารายได้ลดลงประมาณ 600 ล้านบาทจากการที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้เต็มที่

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะลดลงประมาณ 8-10% ส่งผลให้ SME ในธุรกิจนี้สูญเสียรายได้ราว 1,300 ล้านบาท เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเปลี่ยนแปลงจุดหมายปลายทาง คาดว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 650 ล้านบาท

โดยมีธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการซ่อมแซมปรับปรุงอาคาร เช่น ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและธุรกิจก่อสร้างจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ สสว. ยังได้ประเมินสถานการณ์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ว่า มีผู้ประกอบการ SME ประมาณ 193,891 ราย มีการจ้างงานประมาณ 709,010 คน ต้องเผชิญความท้าทายทั้งต้นทุนค่าก่อสร้าง ต้นทุนแรงงานและการแข่งขันที่สูงจากต่างประเทศ ราคาที่ดินและอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และปัจจัยด้านความปลอดภัยที่จะถูกผู้บริโภคนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อในอนาคตเพิ่มขึ้น

ส่วนธุรกิจก่อสร้างมีผู้ประกอบการ SME ประมาณ 142,138 ราย คาดว่าการลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า จะทำให้การเติบโตในปี 2568 ขยายตัว 3% แต่โครงการก่อสร้างของภาครัฐอาจหยุดชะงักในระยะสั้นเพื่อตรวจสอบคุณภาพโครงสร้าง กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาตรวจสอบอาคารจะเป็นที่ต้องการในระยะสั้น รวมถึงการเข้าตรวจรับพื้นที่อาคารสูงต่อไปในอนาคต

ภาคการท่องเที่ยวตามรายงานของนายกสมาคมโรงแรมไทย คาดว่ารายได้ของธุรกิจโรงแรมจะลดลงประมาณ 10-15% ในช่วง 2 สัปดาห์ และ สสว. ประเมินว่าอาจกระทบเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่นักท่องเที่ยวอาจเลือกเปลี่ยนแปลงจุดหมายปลายทางไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า ในระยะยาว หากไม่มีเหตุแผ่นดินไหวหรือ Aftershock ที่รุนแรง คาดว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะเข้าสู่ระดับปกติได้ภายใน 1-2 เดือน

ทั้งนี้ สสว. ยังมีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงภาคเอกชน ประชาชน และผู้รับเหมาควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพ การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างอาคาร เพื่อป้องกันความสูญเสียในอนาคต และสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนและนักลงทุนเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจภายในและระหว่างประเทศ