รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี ในการติดตามสถานการณ์ผลกระทบและการแก้ไขปัญหา ก่อนลงพื้นที่ติดตามความเสียหายอาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี เผย ได้สั่งการให้โรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบตรวจสอบความปลอดภัยอย่างละเอียดก่อนกลับมาให้บริการตามปกติ ส่วนจุดเกิดเหตุบางซื่อ มีทีม MERT กรมการแพทย์ บัญชาการเหตุการณ์ บูรณาการร่วมกับหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ เตรียมโรงพยาบาลในสังกัด 6 แห่งรองรับการส่งต่อ พร้อมทีม MCATT 302 คน ดูแลเยียวยาจิตใจ

วันนี้ (29 มีนาคม 2568) ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมประชุมกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสถานการณ์ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาจากแผ่นดินไหว ก่อนเดินทางไป ติดตามความเสียหายของอาคาร
ทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี และให้สัมภาษณ์ว่า อาคารอาคารทศมินทราธิราชเป็นอาคาร บริการมีผู้ป่วยนอกประมาณ 6,000 คน ต่อวัน ผู้ป่วยใน 450 เตียง วิศวกรตรวจสอบเบื้องต้นพบตัวอาคารมีรอยแตกตามผนัง และรอยแตกร้าวทางเชื่อมระหว่างอาคาร จึงแนะนำให้หยุดการบริการทั้งหมดไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอย่างละเอียดก่อนกลับมาให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังสามารถเข้ามารับบริการได้ ส่วนโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค ได้กำชับให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารสถานที่อย่างละเอียดเช่นกัน เพื่อให้ผู้รับบริการและบุคลากรมีความมั่นใจและเกิดความปลอดภัยสูงสุด

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่รายงานในที่ประชุมฯ จุดเกิดเหตุที่บางซื่อ มีผู้สูญหาย 96 ราย ผู้เสียชีวิต 7 ราย ช่วยเหลืออกมา 9 ราย เป็นสีแดง 2 ราย ส่ง รพ.วิมุต และ รพ.พญาไท พหลฯ (เสียชีวิต 1 ราย) สีส้ม 1 ราย ส่ง รพ.สีกัน สีเขียว 3 ราย ส่ง รพ.สีกัน และ รพ.พญาไท พหลฯ ซึ่งในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทีม MERT ของกรมการแพทย์ (รพ.เลิดสิน รพ.ราชิถี รพ.ราชวิถี2)ได้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ (28 มีนาคม 2568) โดยมี พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ระดับสูง (Advanced Life Support, ALS) 8 ทีม และทีมแพทย์ศัลกรรมจากกรมแพทย์ รวมทั้งมีการจัดตั้ง รพ.สนาม 2 แห่ง โดย กรมการแพทย์และ รพ.พระมงกุฎเกล้า

ทั้งนี้ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลในสังกัดเพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วย ประกอบด้วย รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตน์ราชธานี รพ.ปทุมธานี รพ.พระนั่งเกล้า และ รพ.สมุทรปราการ พร้อมจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (MCATT) จาก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ประกอบด้วย จิตแพทย์ 34 คน พยาบาลจิตเวช 140 คน นักจิตวิทยาคลินิก 19 คน นักสังคมสงเคราะห์ 35 คน นักวิชาการสาธารณสุข 24 คน และวิชาชีพอื่น 50 คน รวม 302 คน ติดตามประเมินและดูแลสุขภาพจิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ญาติ และผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉิน ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อให้
การสนับสนุนหากได้รับการร้องขอ