“สว.ชิบ” ชี้ด่านภูดู่ “ประตูทองคำ” การค้าไทย-ลาว เร่งผลักดันใช้เต็มศักยภาพ สร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับ 2 ชาติ

90

สว. ชิบ จิตนิยม เผยด่านภูดู่ อุตรดิตถ์ศักยภาพสูง แต่ใช้ประโยชน์น้อย เตรียมนำประเด็นหารือ กมธ. ต่างประเทศ วุฒิฯ เร่งหาทางออกร่วมไทย-ลาว หวังสร้างมูลค่าการค้ามหาศาล พร้อมเปิดประตูการท่องเที่ยวเชื่อมสองวัฒนธรรม หลังร่วมคาราวานสื่อฯ สัมผัสปัญหาจริง และร่วมถกครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ลาว

รัฐสภา : 25 มี.ค. 68 นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เปิดเผยหลัง ร่วมคณะคาราวานสื่อมวลชนสัญจรไทย-สปป.ลาว Caravan Thailand – Lao PDR Press 2025 (R11) ที่จัดโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 68 ว่า ตนได้สัมผัสถึงศักยภาพและความท้าทายในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและลาว โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากด่านภูดู่ ซึ่งเป็นประตูการค้าสำคัญบนเส้นทาง R11 ซึ่งส่วนหนึ่งของโครงข่ายเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-เวียงจันทน์ (Chiang Mai -Vientiane Economic Corridor: CVEC)
สว.ชิบ กล่าวอีกว่า โครงข่าย CVEC มีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ โดยถนนที่เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจแห่งนี้มีความยาวรวม 629 กิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งไทย 391 กิโลเมตร และฝั่งลาว 238 กิโลเมตร เริ่มต้นจากเชียงใหม่ ผ่านลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ข้ามด่านภูดู่ สู่เมืองสังข์ทอง และสิ้นสุดที่เวียงจันทน์

“การเดินทางครั้งนี้ ทำให้ผมเห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของด่านภูดู่ และปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้ประโยชน์จากด่านแห่งนี้ การสำรวจเส้นทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้วยตนเอง ทำให้ผมเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงสองประเทศ และเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและลาว” นายชิบ กล่าว

และในวาระครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว ตนยังได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการหารือทวิภาคีเพื่อกระชับความร่วมมือ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเงินการคลัง และการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นายชิบ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงศักยภาพของด่านภูดู่ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรที่เชื่อมต่อไทยกับแขวงไชยบุรี สปป.ลาว ว่ายังมีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางได้อีกมาก แต่ปัจจุบันมีการใช้น้อยเกินไป แม้ว่ามูลค่าการขนถ่ายสินค้าผ่านช่องทางนี้จะเพิ่มจากเดิมร้อยกว่าล้านบาทต่อปี เป็นเกือบ 2 พันล้านบาทต่อปี แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของถนนสายนี้

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากด่านภูดู่ เช่น ขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารที่ยุ่งยาก กฎระเบียบที่ซับซ้อน และข้อจำกัดเกี่ยวกับสินค้าบางประเภทที่ไม่สามารถขนถ่ายผ่านช่องทางนี้ได้ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า สินค้าที่มีข้อจำกัด ได้แก่ สินค้าควบคุมพิเศษ สินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตเฉพาะ และสินค้าที่ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานอย่างเข้มงวด

“หากเราสามารถผลักดันให้มีการใช้เส้นทางนี้และด่านถาวรแห่งนี้มากขึ้น จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับ 2 ชาติได้อีกมากมายมหาศาล” นายชิบ กล่าว

นายชิบ กล่าวอีกว่า ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ตนจะนำประเด็นปัญหาเหล่านี้หารือใน กมธ. ต่างประเทศ วุฒิสภา เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากด่านภูดู่ให้เต็มศักยภาพ โดยมีข้อเสนอแนะเบื้องต้น ให้ปรับปรุงกฎระเบียบขนส่งสินค้าให้ชัดเจนและยืดหยุ่น ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักด่านภูดู่ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ด่านภูดู่

“ผมเชื่อมั่นว่า หากมีการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากด่านภูดู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาวได้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ” นายชิบ กล่าว

รองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ยังกล่าวเสริมถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดที่เส้นทาง CVEC พาดผ่าน โดยเฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ของประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย และในปี พ.ศ. 2569 จะครบรอบ 111 ปีของการก่อตั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะชูจุดขายความเป็นที่ 1 ใน 3 ด้านของจังหวัด ให้สอดคล้องกับตัวเลข 111 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ในส่วนของประเทศลาวเอง ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ หาดทรายในเมืองสังข์ทอง ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างเหมาะสม จะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

สำหรับโครงการพัฒนาถนนหมายเลข R11 และโครงข่าย CVEC ระยะทางรวม 629 กิโลเมตร ช่วยลดเวลาเดินทางระหว่างสองประเทศ .3-4 ชั่วโมง โดยด่านภูดู่ ซึ่งเป็นด่านถาวรของไทย และเป็นด่านสากลของฝั่งลาว มีศักยภาพรองรับสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การเกษตร และสินค้าเกษตร