“เท้ง” แนะ “นายกเจนวาย” ควรส่งสัญญาณชัด ไม่ติดอภิปราย “ทักษิณ” ถาม “วันนอร์” เล่นบท ประธานสภา หรือผู้คุ้มกันรัฐบาล

160

กรุงเทพฯ วันที่ 10 มี.ค. เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการระบุชื่อ ทักษิณ ชินวัตรลงไปในญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็นการกล่าวพาดพิงบุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิชี้แจงในสภาได้ ว่า สิ่งที่เชื่อว่าประชาชนอยากเห็น คือนายกรัฐมนตรีที่มีความเข้าใจต่อการบริหาร  ราชการแผ่นดิน มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ แต่หลายการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนต้องตั้งคำถาม ว่าใครกันคือนายกตัวจริง และตัวนายกมีความเข้าใจในการบริหารราชการแผ่นดิน จริงหรือไม่

“ผมคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีอาจจะยังไม่เคยติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาที่จะมีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็มีทั้งในรูปแบบที่เอ่ยชื่อกันตรง ๆ หรือในรูปแบบเรียกอักษรย่อโดยที่ฟังกันแล้วก็พอเป็นที่รับรู้ได้ว่าผู้อภิปรายเอ่ยถึงบุคคลใด เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่สมาชิกผู้อภิปรายจะต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง ว่าการกล่าวหาพาดพิงบุคคลภายนอกนั้น หากปราศจากพื้นฐานข้อเท็จจริง ก็เป็นสิ่งที่ผู้อภิปรายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้เอกสิทธิ์คุ้มครองในส่วนนี้ไว้” หัวหน้าพรรค ปชน. กล่าว

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามทักษิณยังคงแสดงบทบาทผ่านโดยชัดเจนหน้าสื่ออยู่เสมอ ว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงย่อมอยู่ในสถานะบุคคลสาธารณะและควรมีความรับผิดรับชอบโดยต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตรวจสอบได้ ไม่ใช่ลอยตัวอยู่เหนือการถ่วงดุลตรวจสอบ ทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ คอยชักใยรัฐบาลอยู่ข้างหลัง โดยที่ไม่มีใครแตะต้องได้ นี่คือสิ่งที่พวกเรากำลังตั้งคำถาม ต่อบทบาทของทักษิณต่อรัฐบาลชุดนี้

ในขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง สิ่งที่ควรแสดงออก คือการแสดงความเข้าใจกระบวนการในส่วนนี้ของสภา และพร้อมที่จะเข้ามาตอบทุกข้อสงสัย และในทุกประเด็นการซักฟอก ว่าตกลงแล้วคุณทักษิณผู้เป็นบิดา เป็นผู้ชักใยการบริหารราชการแผ่นดินอยู่จริงหรือไม่ ถ้านายกยืนยันว่าไม่ จะกลัวอะไรกับการกล่าวหาที่ไม่มีน้ำหนักของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะเวทีการตอบชี้แจงในสภาด้วยตัวเองของนายก จะเป็นเวทีที่ดีที่สุดที่จะได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำรัฐบาลอย่างแท้จริง เพราะมีแต่นายกที่ตอบได้ คุณทักษิณที่อยู่นอกสภา เข้ามาตอบแทนไม่ได้ เปล่าประโยชน์ที่จะมาเถียงกันเรื่องใส่ชื่อคุณทักษิณในญัตติได้/ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาในอดีต ก็มีการใส่ชื่อบุคคลภายนอกในญัตติมาแล้วหลายครั้งเช่นกัน

“ความพยายามในการลบชื่อคุณทักษิณออกจากญัตติต่างหาก ที่เป็นความพยายามในการตีรวนกระบวนการในสภา ไม่ให้การอภิปรายในสภาสามารถกล่าวถึงหรือแตะต้องอะไรคุณทักษิณได้เลย เพราะพูดถึงนิดหน่อย ก็จะมีคนลุกขึ้นประท้วงแน่นอนดังนั้น ถ้าอยากให้การประชุมราบรื่น ประชาชนได้ประโยชน์ นายกพร้อมตอบชี้แจงทุกประเด็น ผมคิดว่านายกควรส่งสัญญาณไปทางประธานรัฐสภา ว่านายกและบุคคลในครอบครัวไม่ได้ติดใจอะไร พร้อมให้ใส่ชื่อ และให้กลไกสภาเดินหน้าต่อ” ณัฐพงษ์ ระบุ

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังได้กล่าวถึง นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ด้วยว่าในฐานะประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ เชื่อว่าท่านทราบดี ว่าการตัดสินใจของท่าน ย่อมมีต้นทุนทางการเมืองที่ตามมาทั้งสองทาง โดยณัฐพงษ์ยืนยันว่า ประธานรัฐสภาได้เชิญตนเข้าไปพูดคุย “อย่างไม่เป็นทางการ” จริง ว่าจะไม่บรรจุญัตติให้ หากพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ลบชื่อทักษิณออกจากญัตติ ซึ่งลำพังการเชิญเข้าไปพูดคุยหารือกันนอกรอบ จะถือเป็นการแจ้งให้ผู้เสนอทราบภายใน 7 วันหรือไม่ หรือควรต้องยึดหนังสือที่มีการตอบกลับอย่างเป็นทางการ จึงจะถือว่าเป็นการแจ้งที่ถูกต้องตามข้อบังคับ ประเด็นนี้เป็นประเด็นเรื่องกฎระเบียบเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญ ที่จะทำการติดตามสอบถาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป

“ประเด็นที่ใหญ่กว่า ที่ผมได้หาหรือกับประธานรัฐสภาในวันนั้น คือ ประโยคท้าย ๆ ก่อนสิ้นสุดการสนทนาที่ได้หารือกันร่วมครึ่งชั่วโมง คือ ประโยคที่ประธานรัฐสภาพูดกับผม จับใจความสำคัญได้ว่า – ถ้าฝ่ายค้านยืนยันจะไม่ลบชื่อคุณทักษิณออก ผมก็ยืนยันที่จะไม่บรรจุญัตติให้ และถ้าฝ่ายค้าน (หรือใคร) จะยื่นร้องเรียนอย่างไรต่อผม ผมก็ยินดีและมีความเข้าใจที่จะให้ดำเนินการตามนี้ – ประโยคนี้ เป็นประโยคที่ทำให้ผมเข้าใจ ว่าท่านได้ชั่งน้ำหนักมาดีแล้ว จึงได้ตัดสินใจแบบนี้ ในมุมหนึ่ง ท่านให้ข่าวว่าตัวท่านเองกลัวจะตกเป็นจำเลย ถูกฟ้องร้องไปด้วย เพราะเป็นผู้อนุญาตให้มีการบรรจุญัตติ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 124 ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ว่าเป็นความรับผิดชอบของสมาชิกผู้อภิปราย ประธานรัฐสภาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในเรื่องนี้ ดังนั้น ข้อกังวลในส่วนนี้ของประธานรัฐสภา ผมคิดว่าไม่ค่อยมีน้ำหนัก” ผู้นำฝ่ายค้านยืนยัน

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรค ปชน. ยังกล่าวด้วยว่า สังคมกำลังตั้งคำถามว่าการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา ที่ท่านไม่ยอมบรรจุญัตตินี้ ถือเป็นการเล่นบทบาทการเป็นผู้คุ้มกันให้กับฝ่ายบริหารแทนการถ่วงดุลตรวจสอบซึ่งเป็นหน้าที่ของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ การไม่ยอมบรรจุญัตติในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ท่านให้ตามหน้าสื่อ ว่าท่านเกรงว่าจะถูกฟ้องร้อง หรือเหตุผลที่สังคมกำลังตั้งคำถาม ว่าประธานรัฐสภากำลังเล่นอยู่ในบทบาทใดกันแน่ ระหว่างประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ต้องถ่วงดุลตรวสอบรัฐบาล หรือการทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันรัฐบาล

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า เชื่อว่า ประโยคท้าย ๆ ที่นายวันนอร์ให้ข้อคิดก่อนการจบบทสนทนา เป็นสิ่งสะท้อนได้ชัดเจนที่สุด ว่าเขากำลังใช้อำนาจในนามประธานรัฐสภาภายใต้บทบาทใด ซึ่งการยื่นหนังสือคัดค้านต่อหนังสือแจ้งข้อบกพร่องที่ประธานรัฐสภาส่งกลับมาให้กับตน ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราต้องการแสดงออกถึงความดื้อแพ่ง ไม่ยอมปรับแก้ประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการและการแสดงออกที่ต้องทำให้ประธานรัฐสภาต้องแบกรับต้นทุนที่จะตามมา จากการที่ท่านไม่ได้ใช้อำนาจของท่านอย่างถูกต้องในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติการออกมาให้ความเห็น และหวังว่าท่านจะแก้ไขสถานการณ์นี้ให้กลับมาตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง และเดินหน้าต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป