“กรุณพล” จี้ รบ.แก้ต่างชาติถือครองคอนโดเกิน 49%-ปล่อยเช่ารายวัน ชี้เหิมหนักถึงขั้นทำคอลเซ็นเตอร์-พนันออนไลน์ มท.เด้งรับ นัดประชุมหน่วยเกี่ยวข้อง 14 มี.ค.

147

ที่รัฐสภา วันที่ 6 มีนาคม  กรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถามสดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีปัญหาชาวต่างชาติเช่าคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรแบบรายวัน รวมถึงการเข้าถือครองที่อยู่อาศัยเกินกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง รมว.มหาดไทยได้มอบหมายให้ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน โดยกรุณพล กล่าวว่า การปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรแบบรายวัน สร้างปัญหาให้ผู้อยู่อาศัย และยังมีทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งมีข้อกังวลในการที่นักลงทุนต่างชาติตั้งนอมินีไทย และซื้อส่วนของคนไทย 51% ในบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ทำให้โครงการเหล่านั้นไม่ใช่ของคนไทยอีกต่อไป รวมทั้งมีกรณีการเช่าหรือซื้อทั้งชั้น ที่ผ่านมามีการบุกจับ พบว่าบางแห่งมีการใช้เป็นศูนย์คอลเซ็นเตอร์ ที่ย้ายมาจากตะเข็บชายแดนเข้ามาอยู่ทั้งที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ด้วย

ที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนและผู้พักอาศัย ว่ามาซื้อคอนโดอยู่เพราะไม่สามารถซื้อบ้านได้ หรือต้องมาทำงานในเมือง เป็นบ้านพักอาศัยที่ต้องการความปลอดภัย ความเงียบสงบ แต่กลับถูกทุนต่างชาติหรือคนไทยบางคนนำไปปล่อยเช่ารายวัน บางพื้นที่นำมาใช้ค้าประเวณี บางพื้นที่นำมาใช้ทำเป็นศูนย์คอลเซ็นเตอร์ คำถามคือที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบการประกอบธุรกิจผิดกฎหมายแบบนี้หรือไม่ มีการจับกุมมากน้อยเพียงใด แบ่งได้หรือไม่ว่าเป็นคนไทยกี่คน ต่างชาติกี่คน มีการดำเนินการทางกฎหมายไปถึงขั้นไหนแล้ว กระทรวงมหาดไทยได้มีมาตรการบังคับใช้ พ.ร.บ.โรงแรมอย่างไร และมี พ.ร.บ.อื่นประกบควบคู่ในการป้องกันและดูแลผู้อยู่อาศัยในคอนโดนิเนียมบ้างหรือไม่

ธีรรัตน์ ตอบว่า กรณีปัญหาดังกล่าวเกิดมาตั้งแต่มีแอปพลิเคชันแอร์บีเอ็นบี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้เจ้าของปล่อยเช่าห้องพักในราคาที่ถูกกว่าโรงแรมมาก ทำให้เกิดการกระจายเงินในระบบเศรษฐกิจของไทยและเป็นที่นิยม แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นการนำห้องชุดมาปล่อยให้เช่ารายวันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.อาคารชุด และ พ.ร.บ.โรงแรม โดยในส่วนของอาคารชุดไม่สามารถให้เช่ารายวันได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว และชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองอาคารชุดได้เกินกว่า 49% ของสัดส่วนพื้นที่ทั้งหมด เจ้าหน้าที่จะไม่ยินยอมให้เกิดการถือครองพื้นที่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีในส่วนของการจดขอซื้อในสัดส่วนที่ไม่เกินในตอนแรก แต่หลังจากนั้นอาจมีการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นต่างๆ ทำให้เกินร้อยละ 49% แต่เจ้าหน้าที่ก็ทราบในปัญหานี้ดี 

รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ในขณะนี้มีการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมการที่ดิน และกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้จดทะเบียนธุรกิจการค้า หากมีการจดทะเบียนจะขอให้ตรวจสอบว่ามีการถือครองที่ดินหรือห้องเช่าอยู่แล้วหรือไม่ พร้อมประสานงานกับกรมที่ดินไม่ให้เกิดความผิดพลาด รัฐบาลขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ารัฐบาลมีแนวทางการทำงาน มีบทลงโทษอย่างชัดเจน มีการจับกุมต่างชาติที่ทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.อาคารชุด และ พ.ร.บ.โรงแรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวทางให้ผู้เช่ารายอื่นได้เป็นหูเป็นตา สอดส่องร่วมกับนิติบุคคลเพื่อให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ได้

กรุณพลถามคำถามที่สอง ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามหาดไทยได้จับกุมผู้นำคอนโดมิเนียมมาปล่อยเช่ารายวัน 170 กว่าราย ซึ่งถือว่าน้อยผิดปกติ จึงขอฝาก รมว.มหาดไทย ให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างหนักแน่นกว่านี้ ที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ของประเทศเพิ่งจะเริ่มมีคอนโดมิเนียม มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้เข้าตรวจสอบ แต่เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายหรือความรู้ของนิติบุคคลหรือผู้พักอาศัยเองอาจมีไม่มาก เมื่อหน่วยงานท้องถิ่นลงไปดูจึงไม่เจอผู้กระทำผิด แต่เมื่อประชาชนเข้าไปดูในแอปพลิเคชันต่างๆ กลับกลายเป็นว่ามีผู้พักอาศัย พอเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบถามก็ได้คำตอบว่าเป็นญาติหรือเพื่อนของชาวต่างชาติ ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นก็ไม่สามรถดำเนินการต่อได้

กรุณพลกล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาอย่างในเขตสาทร เมื่อสำนักงานเขตเข้าไปในพื้นที่ของคอนโดมิเนียมที่มีข่าวว่ามีกุญแจของผู้ให้เช่าทิ้งไว้ตามต้นไม้หรือตามตู้ แต่กลายเป็นว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ กทม.ก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่คอนโดได้ จึงประสานกับกรมการปกครองเข้าไปแต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากนิติบุคคลของคอนโด เนื่องจากนิติบุคคลเหล่านี้ก็ถูกจัดจ้างจากนอมินีของทุนต่างชาติที่เข้ามาถือครองพื้นที่ในคอนโดเกินกว่า 50% โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายของไทย รวมทั้งการจัดตั้งนิติบุคคลที่อาศัยเสียงเพียง 1 ใน 3 ทำให้ระเบียบต่างๆ ของคอนโดเป็นไปตามที่ทุนต่างชาติต้องการ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ กระทรวงมหาดไทยสามารถออกมาตรการหรือข้อกฎหมายใดได้หรือไม่ในการเข้าไปในพื้นที่ของเอกชนแล้วบังคับใช้กฎหมาย 

รมช.มหาดไทย ตอบว่า บางครั้งเรารู้ว่าจุดนี้มีการทำความผิดแน่นอน เมื่อพยายามเข้าไปตรวจสอบก็กลายเป็นว่ามีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างผู้ปล่อยเช่ารายวันกับผู้ที่อยู่ในอาคารหรือนิติบุคคล จึงไม่พบการกระทำความผิด แต่กระทรวงมหาดไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สามารถจัดระเบียบได้ในการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ตรวจสอบกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับกรมการพัฒนาธุรกิจการค้า ในการตรวจสอบการประกอบธุรกิจและการจดทะเบียน เป็นการแก้ปัญหาต้นทางที่จะลดจำนวนผู้เช่าต่างชาติที่มากเกินไปได้

นอกจากนี้มหาดไทยจะเริ่มหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น การพิจารณาปรับสัดส่วนที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองลดลงจาก 49% ทำให้กฎหมายมีความครอบคลุมและทันต่อแอปพลิเคชันต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ชี้แจงข้อปฏิบัติให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอร์บีเอ็นบี อะโกด้า หรือบุ๊กกิ้งดอทคอม หากมีกฎหมายรองรับก็สามารถเข้าไปตรวจสอบและขอความร่วมมือหากพบผู้ให้บริการที่ส่อทำผิดกฎหมายได้ โดยจะมีการประชุมหาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในวันศุกร์ที่ 14 มีนาคมนี้ ซึ่งจะได้นำมาเรียนต่อสภาฯ ต่อไป ที่สำคัญคือการสร้างความรับรู้ต่อบุคคลทั่วไปผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ให้รู้ถึงกฎหมาย และหากนิติบุคคลให้ความสำคัญและความร่วมมือ รวมถึงลูกบ้านมีการคอยสอดส่องดูแล การแก้ปัญหาก็จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรุณพลถามถึงแนวทางการลดสัดส่วนการถือครองของของต่างชาติ เพราะในรัฐบาลที่แล้วมีแนวทางจะขยายสัดส่วนจาก 49% เป็น 75% และขยายระยะเวลาจาก 50 ปีเป็น 99 ปี โดยปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องของการปล่อยเช่ารายวันแล้ว เพราะมีการจับชาวต่างชาติ 15 คนที่ตั้งบ่อนพนันออนไลน์บนคอนโดมิเนียม โดยเช่าทั้งชั้นให้เฉพาะคนชาติเดียวกันเองขึ้นไปเล่นพนัน ในบางห้องเปิดเข้าไปก็เห็นมีจอทีวีเต็มไปหมด ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นฐานของคอลเซ็นเตอร์หรือบ่อนพนันออนไลน์หรือไม่ แต่ เมื่อลูกบ้านแจ้งนิติบุคคล นิติบุคคลก็ไม่ได้แจ้งไปที่หน่วยงานท้องถิ่น กรณีเช่นนี้รัฐบาลจะมีวิธีการอย่างไรในการทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่นิติบุคคล หรือให้ผู้พักอาศัยสามารถติดต่อโดยตรงไปที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นโดยไม่ผ่านนิติบุคคลได้หรือไม่ ตอนนี้คอนโดที่มีห้องเกิน 300-400 ห้อง จะมี 200 ห้องอย่างต่ำที่เป็นของคนต่างชาติไปแล้ว รัฐบาลมีแนวทางในการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนหรือไม่

ธีรรัตน์ ระบุว่า ตัวอย่างที่ได้นำเสนอไปในเรื่องการทบทวนข้อกฎหมาย การถือครองสัดส่วนผู้ถือหุ้นในแต่ละอาคาร เป็นแนวทางที่ได้มีการรวบรวมหลายความคิดเห็นมา รัฐบาลรับฟังทุกความคิดเห็นและมีการวบรวบไว้ทั้งหมดแล้ว ส่วนในกรณีตัวอย่างที่ สส.ได้ยกมา นั่นคือการที่ทางรัฐบาลได้ตรวจสอบและจับกุม ส่วนนิติบุคคลที่ที่ทำผิดกฎหมาย ก็จะถูกดำเนินคดี หากใครมีข้อมูลหลักฐานอะไร สามารถส่งให้ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กระทรวงมหาดไทย 1567 หรือศูนย์ดำรงธรรมที่มีอยู่ทั่วประเทศได้