“รักชนก-สหัสวัต” บุกทวงมติบอร์ดประกันสังคม เลขาฯ รับปากทยอยเปิดใน 1 สัปดาห์ จีนายกฯ ดันควบรวม 3 กองทุนสุขภาพหลัง 23 ปีไม่คืบ

156

ที่สำนักงานประกันสังคม วันที่ 4 มีนาคม 2568 รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ เขต 28 พรรคประชาชน และ สหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี เขต 7 พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวภายหลังการเข้าพบเลขาธิการสำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) เพื่อหารือแนวทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดย รักชนก ระบุว่าจากการพบและได้พูดคุยกับเลขา สปส. โดยเฉพาะกรณีหนังสือเวียนที่ส่งให้หน่วยงานภายใต้สังกัด สปส. ที่เกี่ยวกับการไม่ให้ข้อมูล ขอยืนยันว่าหนังสือนี้ไม่ปกติ แต่ก็เข้าใจเลขาธิการว่าต้องทำตามคำสั่ง อาจบอกไม่ได้ว่าใครสั่งมา และหนังสือฉบับนี้ไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากข้อมูลบางอย่างถูกบังคับให้เปิดเผยอยู่แล้วตามกฎหมาย จึงหวังว่าหลังจากนี้การเปิดเผยข้อมูลของ สปส. จะมีความคืบหน้า และประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับความร่วมมือหากมีการขอข้อมูลเข้ามาต่อจากนี้

ส่วนเรื่องมติที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมทุกชุด ที่มีการคุยในชั้นกรรมาธิการติดตามงบประมาณฯ อาจจะไม่เคยมีใครทวงมาก่อนว่าต้องเปิดเผย แต่ตนยืนยันว่าตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ามติของบอร์ดที่แต่งตั้งโดย ครม. มติ ครม. หรือโดยอำนาจทางกฎหมาย ย่อมเปิดเผยได้ รวมถึงรายงานการประชุมด้วย ถ้าไม่ได้อยู่ในชั้นความลับที่ตกลงกันไว้ วันที่ประชุมกรรมาธิการฯ รองเลขาธิการบอกจะกลับมาพิจารณา แต่คนที่มีปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ฝั่งสำนักงาน แต่คือบอร์ดจากสัดส่วนของนายจ้างที่ยืนยันไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมติของบอร์ดและรายงานการประชุม 

รักชนกกล่าวต่อไปว่าตนขอยืนยันอีกครั้งว่าความต้องการส่วนตัวของท่านไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ ที่ผ่านมาตั้งแต่มีบอร์ดจนถึงวันนี้ท่านยังไม่ได้ทำตามกฎหมายและอาจเข้าข่ายมาตรา 157 ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเลขาธิการได้รับปากแล้วว่าภายใน 1 สัปดาห์จะทยอยเปิดเผยมติทั้ง 4 บอร์ด ซึ่งตนจะจับตาดูต่อไป

ในส่วนของการควบรวมสามกองทุนสุขภาพนั้น รักชนกกล่าวว่า แม้จะไม่มีใครตัดสินใจแทนรัฐมนตรีได้ แต่การสอบถามความพร้อมของกองทุน บอร์ดต้องเป็นคนตอบ ซึ่งตนเข้าใจว่าบอร์ดใหญ่ยังไม่ได้ตีความในส่วนนี้ แม้สุดท้ายรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ลงนาม แต่ไม่ว่าจะเป็น รมว.แรงงานหรือ รมว.สาธารณสุข ก็ตัดสินใจกันเองไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องถามถึงนายกรัฐมนตรีเพราะคาบเกี่ยวกับสองกระทรวงที่ตัดสินใจกันไม่ได้มา 23 ปีแล้ว ถ้ายังมีการคุยกันแบบเดิมโดยไม่ผ่านคนมีอำนาจการตัดสินใจอย่างผู้นำรับบาลอย่างไรก็ไม่ได้ควบรวม คนที่ต้องทำให้เรื่องนี้พร้อมคือนายกฯ ซึ่งตนขอเรียกร้องว่าถ้านายกฯ มีความจริงใจในการจัดการปัญหานี้จริงต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการทำงาน ไม่เช่นนั้นศึกษาไปก็เปล่าประโยชน์ เหมือนที่ศึกษามา 23 ปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า

ด้านสหัสวัต กล่าวว่า เรื่องหนังสือเวียนได้รับการยืนยันจากเลขาธิการแล้วว่าไม่ใช่การจงใจปิดปากคนทำงาน ทำให้เราสบายใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรายืนยันคือประเทศนี้ยังมีข้าราชการน้ำดีอีกมากที่พร้อมเปิดเผยเรื่องผิดปกติให้สังคมรับรู้ และยังมีคนทำงานในสำนักงานกองทุนประกันสังคมอีกมากที่กำลังทำงานรับใช้ผู้ประกันตนอย่างแข็งขัน 

ส่วนเรื่องของการควบรวมกองทุนนั้น วันนี้เป็นฉันมาทติของสังคมแล้วว่ากองทุุนต่างๆ มีความเหลื่อมล้ำอยู่จริงและเป็นนิมิตหมายอันดีที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแแห่งชาติ 2545 เรื่องการถ่ายโอนสิทธิการรักษาต่างๆ มีระบุไว้ในมาตรา 6 ว่าหากติดขัดอย่างไรต้องมีการชี้แจง แต่ 20 กว่าปีที่ พ.ร.บ. นี้บังคับใช้ เรากลับยังไม่เห็นเลยว่าการจัดการสิทธิรักษาให้เหลือกองทุนเดียวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ติดปัญหาที่ใด 

สหัสวัตกล่าวต่อไปว่าหากนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจ เพียงแค่ไปดูว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมามีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ติดปัญหาที่ใด แล้วเริ่มต้นจากตรงนั้น พรรคประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพราะนี่คือผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้จากการลดความเหลื่อมล้ำในกองทุนรักษาพยาบาลและกองทุนสุขภาพต่างๆ และพรรคยังพร้อมให้ความร่วมมือในการยกระดับกองทุนประกันสังคม รวมถึงพิจารณาการออกนอกระบบราชการ ซึ่งพรรคประชาชนมีร่าง พ.ร.บ. เตรียมไว้แล้ว แต่หากรอตามลำดับการพิจารณาของสภาก็อาจล่าช้า หากรัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสามารถเตรียมร่างของ ครม. แทรกเข้าสภาได้เลย ซึ่งจะทำให้การผลักดันยกระดับโครงสร้างสำนักงานกองทุนประกันสังคมมีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งตนอยากได้ความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลว่าคิดอย่างไรกับเรื่องนี้