จเรตำรวจฯ ยืนยันสอบเข้ม 119 คนไทย ที่รับตัวจากปอยเปต หากพบร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องรับโทษร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

361


วันนี้ (1 มีนาคม) ที่ ด่านพรมแดนคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)กล่าวถึงการรับตัว 119 คนไทยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในเมืองปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย กัมพูชา กลับมาประเทศไทย

ระบุว่า วันนี้จะมีการรับตัวคนไทย 119 คน แบ่งเป็นเยาวชน 4 คนผู้ใหญ่อีก 115 คน ทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง-คัดแยก โดยทางการไทยจะมีการตรวจสอบว่าบุคคลใดมีหมายจับบ้างซึ่งส่วนหนึ่งยืนยันว่าเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับที่ผู้เสียหายคนไทยแจ้งความไว้ก่อนหน้า

หากพบว่า 119 คนมีส่วนในการกระทำความผิด เกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน จะมีการขอศาลออกหมายจับทุกรายโดยมีการตั้งฐานความผิด ‘องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ’ ถือเป็นข้อหาที่รุนแรงมีโทษจำคุกเกิน 10 ปี

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนที่ทางการกัมพูชาแถลงข่าวว่า ทั้ง 119 คนไทยไปทำกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ และการที่อยู่ในประเทศกัมพูชาไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายร่างกายไปโดยสมัครใจ ข้อมูลนี้ก็จะเป็นข้อมูลประกอบให้ท่งการไทย แต่อย่างไรก็ตามทางประเทศไทยเองก็มีพยานหลักฐานที่จะดำเนินการต่อ ผลสอบสวนของกัมพูชาเพียงจะทำให้เจ้าหน้าที่ไทยทำงานก็จะง่ายขึ้น

การจัดการ 119 คนไทยที่ทำผิด ตำรวจยืนยันว่าจะทำให้เป็นตัวอย่าง การที่คนไทยหลอกคนไทยต้องถูกดำเนินคดีเราไม่อยากเห็นภาพพี่คนไทยหลอกคนไทย หรือช่วยต่างชาติให้มาหลอกคนไทยแล้วกลับมาแสดงตัวว่าเป็นเหยื่อ

“ใครตกเป็นเหยื่อเราก็ยินดีที่จะคัดแยกและช่วยเหลือ แต่คนที่เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เราจะต้องไปดำเนินคดีที่หนักที่สุด”พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าว

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวต่อว่า ในการสอบสวนกลุ่ม 119 คนไทย เจ้าหน้าที่เชื่อว่าทุกคนมีการเตรียมตัวมาอย่างดี กลุ่มคนพวกนี้เคยทำงานเป็นสแกมเมอร์หลอกคนไทย การพูดให้ข้อมูลคงไม่ได้ตรงความเป็นจริง แต่เราจะใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์

อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเช้า ทีมข่าวสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ International Justice Mission Thailand  ที่มาคอยสังเกตการณ์กระบวนการคัดกรองบุคคลตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM)

พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวเติมภายหลังรับตัว 119คนไทยว่า เจ้าหน้าที่ได้แบ่งสีเสื้อของแต่ละคน เป็น3สี คือ เสื้อสีเขียว ถูกจับวันที่ 22ก.พ. เสื้อฟ้าถูกจับวันที่ 23 ก.พ. และเสื้อสีชมพู คือบุคคลที่มีหมายจับในประเทศไทย เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและการควบคุมตัว ทั้งนี้ 7 คนที่มีหมายจับ 15หมายจับ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่หากพบเพิ่มเติมว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในครั้งนี้ ก็จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในภายหลังและภาพรวมของคดี ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ประกอบไปด้วย กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจภูธรภาค2 ซึ่งจะตั้งขึ้นมาสอบสวนในเรื่องนี้ และกรณีที่พบการกระทำความผิดก็จะมาดูการตั้งข้อกล่าวหา โดยตั้งโครงความผิดมูลฐานของคดีไว้ว่า จะมีความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ /อั้งยี่ซ่องโจร/ร่วมกันฉ้อโกง แล้วดูว่าใครเข้าข่ายกระทำความผิดบ้าง


“และตำรวจก็เตรียมวางแผนคัดกรองครั้งนี้ไว้อย่างละเอียด โดยให้คนเก่งจากแต่ละส่วนมาทำวานนี้ทั้งจากกองบัญขาการตำรวจสอบสวนกลาง /ไซเบอร์ หภาค2 และกองพิสูจน์หลักฐาน โดยจะไม่ให้คนที่ไปก่ออาชญากรรมเหล่านี้มาใช้ช่องทางว่าตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อีกต่อไป ถ้าคนไหนเป็นเหยื่อจริงๆ จะช่วยเหลือตามกระบวนการ”

พล.ต.อ.ธัชชัย บอกอีกว่า จากการสอบถามคนไทย 3-4คน ที่ถูกส่งกลับมาเข้ากระบวนการ อ้างว่าพึ่งข้ามไปทำงาน แต่ทางเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า ไปทำงานตั้งแต่เมื่อไรอย่างไร และทางกัมพูชาก็มีข่าวออกมาแล้วเป็นภาษาอังกฤษเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบว่า กลุ่มคนเหล่านี้สมัครใจไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอยู่ได้อย่างอิสระปกติ เดินทางไปไหนมาไหนก็ได้ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญ และมีบอสเป็นคนจีนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด และจากการสอบถามกับผู้แทนสถานทูตไทยในกัมพูชา ไม่พบการแจ้งขอความช่วยเหลือจาก 119คน

ส่วนทั้ง119คน ถูกจับกุมมาจากตึกใดในฝั่งปอยเปตบ้างนั้น จะต้องรอดูรายละเอียด จากการสอบปากคำและการคัดกรองก่อน

และหลังจากนี้ ทางการไทยจะทำงานร่วมกับตำรวจกัมพูชาในการตรวจสอบทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์