ที่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) วันที่ 19 ก.พ. นายวรวุฒิ โตวิรัตน์ รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ขอให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงเหตุผลหรือความจำเป็นที่ต้องปัดตกกฎหมายบำนาญผู้สูงอายุ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งพรรค ผลักดันร่วมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยชี้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย แต่กลับถูกปัดตก ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์
นายวรวุฒิย้ำว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดต่ำกว่า 500,000 คนต่อปีเป็นครั้งแรกในปี 2567 ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างประชากรที่รุนแรง ขณะเดียวกัน สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 20.17% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” และกำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society)” ในอนาคตอันใกล้

รองหัวหน้า ทสท. เตือนว่าการปัดตกกฎหมายบำนาญผู้สูงอายุ จะส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งในด้านวิกฤตแรงงานและผลิตภาพทางเศรษฐกิจ โดยจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จะทำให้แรงงานในระบบลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) รวมถึงกำลังแรงงานที่ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศลดลงและจะส่งผลกระทบในหลายมิติ คือ 1) วิกฤตด้านแรงงานและผลิตภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จะทำให้แรงงานในระบบลดลงอย่างมาก ส่งผลให้จีดีพีลดลง 2) ภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มสูงขึ้น จากการเป็นสังคมผู้สูงวัย หากไม่มีระบบบำนาญและโครงการดูแลผู้สูงอายุที่เพียงพอ 3) ความเหลื่อมล้ำและความยากจนในผู้สูงอายุ ที่ไม่มีรายได้เพียงพอจะเผชิญกับความยากจน ซึ่งจะกระทบคุณภาพชีวิตและเพิ่มปัญหาทางสังคม และ 4) การสูญเสียโอกาสในการใช้ศักยภาพผู้สูงอายุ หากไม่มีโครงการบำนาญที่สนับสนุนการรีสกิลและอัพสกิล ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ

นายวรวุฒิ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สาเหตุที่กฎหมายสำคัญนี้ถูกปัดตก อาจมาจากการที่รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลท 10,000 บาท จนไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับนโยบายที่จะช่วยสร้างความยั่งยืน ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศหรือไม่ การแก้ปัญหาสังคมสูงวัยต้องมองไปที่การลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง พร้อมย้ำว่ากฎหมายบำนาญผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงการแจกเงิน แต่เป็นการสร้างระบบสวัสดิการที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอ สามารถรักษาสุขภาพ ทำงานต่อได้ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน