กองกำลังนเรศวร ประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย – เมียนมา(TBC) อ.แม่สอด – อ.เมียวดี ร่วมมือช่วยเหลือเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์เดินทางกลับประเทศ

258

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 กองทัพบกโดยกองกำลังนเรศวรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุม “คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย – เมียนมา (TBC) ระหว่าง อำเภอแม่สอด และอำเภอเมียวดี ” ฝ่ายไทยนำโดย พลตรี ไมตรี ชูปรีชา ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร พันเอก ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู นาย สัญญา เพชรเศษ นายอำเภอแม่สอด ,พันตำรวจเอก ศรายุทธ แผลงปัญญา รักษาราชการแทน ผกก.สภ.แม่สอด และคณะ ในส่วนฝ่ายเมียนมาประกอบด้วย พันโท ซอซันอู,นาย ตานหน่าย นายอำเภอเมียวดี และคณะ เข้าร่วมประชุม ณ กองบังคับการเฉพาะกิจราชมนู อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

การประชุมดังกล่าวเพื่อหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และต้องการเดินทางกลับประเทศของตนเอง มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้กระบวนการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายเดินทางกลับประเทศได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

โดยที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การเตรียมรายชื่อและข้อมูลของบุคคล ,การจัดลำดับความสำคัญของการส่งตัว ,รวมถึงพื้นที่และกระบวนการการรับ-ส่งตัวบุคคลในส่วนของการเตรียมรายชื่อและข้อมูล ฝ่ายไทยได้ร้องขอให้ฝ่ายเมียนมารวบรวมรายชื่อผู้ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ พร้อมรายละเอียด เช่น สัญชาติ เพศ รูปถ่าย และสถานะเอกสารการเดินทาง โดยขอให้ส่งข้อมูลล่วงหน้า 5-7 วันก่อนดำเนินการจริง เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างมีระเบียบและรวดเร็ว ขณะที่ฝ่ายเมียนมาเห็นชอบกับข้อเสนอนี้ แต่ขอให้ปรับระยะเวลาการส่งข้อมูลเป็นล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อไม่ให้เนิ่นช้า เพราะอาจส่งผลกระทบในการควบคุมดูแลบุคคล ในด้านการจัดลำดับความสำคัญของการส่งตัว ฝ่ายไทยเสนอให้จัดลำดับการส่งกลับบุคคล ในประเทศที่มีความพร้อมในการรับกลับก่อน ส่วนประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมขอให้จัดอยู่ในลำดับรอง เพื่อให้การส่งตัวกลับสู่ถิ่นฐานภูมิลำเนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งฝ่ายเมียนมาเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว


สำหรับพื้นที่และกระบวนการรับ-ส่งตัวบุคคล ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เป็นจุดรับ-ส่ง โดยฝ่ายไทยสามารถรับผู้เสียหายได้สูงสุดวันละ 500 คน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเมียนมาระบุว่าศักยภาพในการคัดกรองบุคคลและตรวจสอบเอกสารอาจทำให้ไม่สามารถส่งตัวได้ถึง 500 คนต่อวัน แต่จะพยายามดำเนินการให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ในการประชุมทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการดำเนินงานภายใต้กลไกของคณะกรรมการ TBC จะช่วยให้กระบวนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากขบวนการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝ่ายไทยให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันโรคติดต่อ ควบคู่ไปกับการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลและหลักมนุษยธรรม


ทั้งนี้ กองทัพบกจะยังคงทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว พร้อมดำเนินการในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน