ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 มกราคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อฯ ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วยนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนฯ นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการกองทุนฯ นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบประกาศการเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ ประจำปี 2568 วงเงินงบประมาณไม่เกิน 300 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ทุนประเภท เปิดรับทั่วไป (Open Grant) 90 ล้านบาท 2. ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) 170 ล้านบาท 3. ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) 40 ล้านบาท โดยจะเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ ระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2568 การประชุมครั้งนี้มีวาระการประชุมที่สำคัญ อาทิ การครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อฯ เตรียมการสรรหาคณะกรรมการชุดใหม่แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่กำลังจะหมดวาระลง

นางสาวสุดาวรรณ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อฯ เร่งดำเนินการการประชาสัมพันธ์การเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ ประจำปี 2568 ซึ่งจะมีกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ การจัดอบรมเตรียมความพร้อมการเขียนโครงการฯ ให้กับผู้สนใจขอรับการสนับสนุนทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และจะเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ ระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคม 2568 สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสร้างสรรค์

รมว.วธ. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการฯ มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ซึ่งการเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผลการจากเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ และสนับสนุนในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เกิดผลงานสื่อสร้างสรรค์ในหลากมิติทั้งสื่อสำหรับเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ ฯ สร้างระบบนิเวศสื่อที่ดีให้กับสังคม ทั้งนี้โครงการและกิจกรรรมที่ได้รับทุนยังมีสื่อที่สร้างการตระหนักรู้ทางเทคโนโลยี เปรียบเสมือนวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันการรู้เท่าทันสื่อให้สอดคล้องและเท่าทันต่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สื่อออนไลน์หรือสื่อดิจิทัลมิได้มีอิทธิพลต่อประชาชนอย่างมาก ดังนั้นการรู้ทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ การรู้เท่าทันการสื่อสารยุคดิจิทัล รวมถึงรู้เท่าทันข่าวปลอม (Fake News) การรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyber Bully) และความรู้เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง