นวัตกรรมกับผู้สูงวัย….เรื่องใกล้ตัว

200

ปัจจุบันนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดความต้องการที่หลากหลาย ทำให้นวัตกรรมมีความสำคัญในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพ รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้นวัตกรรมในทางการแพทย์กว่า 80-90 % ของกระบวนการรักษา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีการนำมาใช้ประมาณ 30-50 % เท่านั้น ในประเทศไทย งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ถูกจัดสรรให้กับการดูแลสุขภาพของประชาชนในมิติต่างๆ ทั้งการ สร้างเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟู ตลอดจนการแสวงหาพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อประชาชน

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุพบว่า ในปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 19.4 ของประชากรหรือเกือบ 13 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุนี้เอง ส่งผลต่อโครงสร้างประชากรและระบบสุขภาพ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เปราะบาง มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ กรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการที่มีนโยบายในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมในการดูแลรักษาและฟื้นสมรรถภาพทางการแพทย์ของประชาชนตามบทบาทภารกิจของกรมและหน่วยงานในสังกัดต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานในภีเครือข่าย การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ ได้มีการพยายามนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ วิธีการ กระบวนการ กิจกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยปรับปรุง พัฒนาการทำงานทั้งในด้านงานสนับสนุนและงานบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานบริการที่เกิดประโยชน์กับประชาชนผู้รับบริการ ตามแนวทางนโยบายของผู้บริหาร โดยมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ในกับผู้รับบริการเป็นสำคัญ สอดคล้องกับบทบาทภารกิจของโรงพยาบาล ภายใต้การทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพต่างๆ

นายแพทย์รัฐดำรง ธรรมโชติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรีกล่าวเพิ่มเติมว่านวัตกรรมในผู้สูงอายุ ไม่ได้หมายความถึงนวัตกรรมที่มีผลกระทบในวงกว้างกับประชาชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการที่ผู้สูงอายุเกิดการยอมรับนวัตกรรมต่างๆ ในระดับปัจเจกบุคคล นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพของตนเองอีกด้วย โดยผ่านขั้นตอนของการเกิดความรู้ และการแสวงหาข่าวสารข้อมูลจนเกิดความเข้าใจ การเกิดแรงจูงใจหรือทิศทางของทัศนคติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การตัดสินใจที่จะรับเอาสิ่งใหม่หรือนวัตกรรมนั้น การนำไปปฏิบัติหรือปรับใช้กับตนเอง ตลอดจนเกิดการนำสิ่งใหม่หรือนวัตกรรมนั้นๆ ไปปฏิบัติอย่างถาวรในวิถีชีวิตประจำวันของตนเอง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวสำคัญมากในบทบาทของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เนื่องจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีขายหรือโฆษณาตามสื่อต่างๆ มีความหลากหลาย บางส่วนเป็นการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยละเลยการปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสม อีกทั้งในยุคปัจจุบันความก้าวหน้าและเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้นผ่าน Smartphone ข้อมูลข่าวสารที่มาในรูปแบบที่หลากหลายหากพิจารณาเลือกใช้อย่างเหมาะสม ก็จะเกิดผลดีกับผู้สูงอายุ เช่น ความรู้ในการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การกินยา ข่าวสาร โรคต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้นักพัฒนายังได้ Application เป็นรูปแบบของเกม เพื่อช่วยฝึกการทำงานของสมองทั้ง การจำ การคิดอย่างมีเหตุผล การแก้ปัญหาผ่านที่ทำให้ผุ้สูงอายุเกิดความสนุกและท้าทาย มีผลในการรักษาและป้องกันโรคทางสมอง เช่น อัลไซเมอร์ เป็นต้น

นางสาวภูวนาถ สถานพงษ์ นักกายภาพบำบัด กล่าวเพิ่มเติมว่า Brain Exercise ขยับกายกระตุ้นสมอง สมวัยผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อกระฟื้นฟูระบบประสาทและสมองทักษะด้าน Executive Function โดยเฉพาะความคิดและการเรียนรู้ร่วมกับทักษะการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยแต่ละบุคคล (Cognitive motor training) ซึ่งเครื่องมือที่ช่วยฝึกทั้งสมองและร่างกาย ไปพร้อมๆกัน โดยวัดความสามารถด้านการเรียนรู้และการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังออกแบบมาเพื่อป้องกันและฟื้นฟูการทำงานของสมองและการเคลื่อนไหว ในรูปแบบของกิจกรรมและเกมต่างๆที่แฝงอยู่ตลอดช่วงของการออกกำลังกายทั้งทางร่างกายและทางปัญญา ดังนั้น เครื่องมือสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มช่วงวัยผู้สูงอายุ ทั้งชายและหญิง นอกจากนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่มีปัญหั้งเรื่องของความคิด ความจำ การรับสิ่งเร้ารอบตัว และการเคลื่อนไหว ซึ่งผลตอบรับ ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจในการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับการบำบัดตามแนวทางของสหสาขาวิชาชีพต่างๆ

#สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี #กรมการแพทย์ #Thaitabloid