ป.ป.ส. นำคณะศาลร่วมศึกษากระบวนการยุติธรรมอเมริกา

103

ป.ป.ส. นำคณะศาลร่วมศึกษากระบวนการยุติธรรมอเมริกา พร้อมรูปแบบการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและผู้ที่มีอาการทางจิต เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาหาแนวทางสมดุลการป้องกันบำบัดในไทย

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568 พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้กระบวนการยุติธรรมในสหรัฐอเมริกา และรูปแบบการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดและผู้ที่มีอาการทางจิต ณ มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส (University of North Texas) รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา คณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วย พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ นางอภิรดี โพธิ์พร้อม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา นายนพดล คชรินทร์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลฎีกา นายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายสมภพ นันทโกวัฒน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดสงขลา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และคณะเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.

ในช่วงเช้าคณะผู้แทนไทยได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปเรื่องสถานการณ์ยาเสพติดในสหรัฐอเมริกาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและศาลยาเสพติด จาก ดร.ราชิตา ชามา (Dr. Rachita Sharma) และ ดร. ฮาลีย์ เซตเลอร์ (Dr.Haley Zettler) จาก มหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส (University of North Texas) ในปัจจุบัน กัญชายังเป็นปัญหาชองสหรัฐอเมริกา โดยมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเสรีได้ใน 23 รัฐ ส่งผลให้ลดจำนวนคดีอาชญากรรมลง แต่กลับเพิ่มผลกระทบทางสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้กัญชา

นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการใช้เฟนตานิลที่นำไปสู่การเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด ปี ค.ศ. 2022 พบผู้เสียชีวิตจากการใช้เฟนตานิล เกินขนาดกว่า 107,000 รายทั่วประเทศ ในขณะที่พบการใช้สารกระตุ้นประสาทตามใบสั่งแพทย์ ได้แก่

แอดเดอรอล (Adderall) และริทาลิน (Ritalin) เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเด็กนักเรียนนักศึกษา โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน ซึ่งหากใช้ระยะยาวจะส่งผลต่อร่างกาย ส่วนเมทแอมเฟตามีนจะใช้กันมากในกลุ่มแรงงานเหมืองแร่และชุมชนยากจน ผลกระทบจากการใช้ยาเสพติดส่งผลต่อสุขภาพ การเสียชีวิต การก่อความรุนแรง และการเป็นคนไร้บ้าน

สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมของผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 2 ใน 3 ได้รับการควบคุมสอดส่อง จำนวนกว่า 3.6 ล้านคน แบ่งเป็น การกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ 2.9 ล้านคน และพักการลงโทษ 7 แสนคน โดยร้อยละ 60 เป็นคดีร้ายแรง ส่วนผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีก 1 ใน 3 ถูกจำคุกในเรือนจำ 1.8 ล้านคน ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2023 มีการจับกุมคดียาเสพติด 746,292 คดี โดยร้อยละ 83.1 เป็นฐานความผิดครอบครองยาเสพติด และมากกว่า 2 แสนคดีเป็นความผิดเกี่ยวกับกัญชา โดยสหรัฐอเมริกามีการปรับนโยบายเน้นการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษโดยเฉพาะในกลุ่มผู้เสพในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นประมวลกฎหมายยาเสพติดชองไทยซึ่งมีเจตนารมณ์บำบัดรักษาผู้เสพมากกว่าการลงโทษจำคุก

สำหรับในช่วงบ่าย คณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติด (Recovery resource council) ณ เมืองฟอร์ทเวิร์ธ (Fort Worth) โดยมีนายอีริค ไนเดอร์เมเยอร์ (Mr.Eric Neidermayer) ประธานกรรมการบริหาร ให้การต้อนรับและบรรยายการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยศูนย์ฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นศูนย์คัดกรอง ดูแล และรับส่งต่อผู้ใช้ยาเสพติดและผู้กระทำความผิดยาเสพติดจากศาลยาเสพติด เข้าสู่การฟื้นฟู และโครงการช่วยเหลือต่างๆ เช่น จัดหาที่พัก (Housing First) โดยใช้กลไกอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟู (Recovery outreach team) และผู้จัดการรายกรณี Case manager ในการเข้าถึงผู้ป่วยยาเสพติดที่อยู่ในชุมชนเพื่อชักชวนให้เข้าสู่การบำบัดรักษา นอกจากนั้น ยังมีการนำผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดมาพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ติดยาเสพติด โดยการดำเนินงานจะคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การศึกษาดูงานครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อนำองค์ความรู้และแนวทางการป้องกันและบำบัดยาเสพติดในสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อลดปัญหาและความเสี่ยงด้านยาเสพติดในระยะยาว คณะศึกษาฯ ยังได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย และการป้องกันการแพร่ระบาด เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องกัน บำบัด และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในอนาคต

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ป.ป.ส.