”จเรฯหวาน“ควง ผู้บัญชาการอรรถ“แถลง การรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ ในคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์”

53

”จเรฯหวาน“ควง ผู้บัญชาการอรรถ“
แถลง การรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเพื่อเฉลี่ยทรัพย์กว่า 2,500 ล้านบาทคืนให้แก่ผู้เสียหายกว่า 1,500 คน ในคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์”

วันที่ 17 ธ.ค.67 เวลา 10.00 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(เมืองทองธานี) โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้แทน พร้อม พล.ต.ท.ธัชชัช ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.จตช./ผอ.ศปอส.ตร., พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ บช.สอท. ร่วมกับ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง., นายวิทยา นีติธรรม โฆษกประจำ สำนักงาน ปปง., พ.ต.ท.จักร จุลกะรัตน์ ผอ.กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ว่า ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายในการเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.จตช. ในฐานะ
ผอ.ศปอส.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อสามารถติดตามทรัพย์สินที่หลอกลวงไปกลับมาเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย

“โดยการรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเพื่อเฉลี่ยทรัพย์กว่า 2,500 ล้านบาท คืนให้แก่ผู้เสียหายกว่า 1,500 คน ในคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์”

สืบเนื่องจาก บช.สอท. ได้ดำเนินคดีอาญาที่ 80/2566 ในความรับผิดชอบของ บก.สอท.2 ผู้ต้องหารายนายสฤษฏ์ฯ กับพวก ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลอกลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย จำนวน 3,627,966 บาทในการกระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ก.ย.65 ได้มีผู้เสียหายรายหนึ่งโดนหลอกลวงในลักษณะ Hybrid Scam โดยผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพสุ่มติดต่อหาเหยื่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย แล้วพูดคุยสร้างความสนิทสนม จากนั้นได้ชักชวนให้โอนเงินเพื่อลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน “Streaming” สุดท้ายสูญเงินไปจำนวนกว่า 3 ล้านบาท จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ายอดถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารของนายสฤษฎ์ กับพวกอีกหลายราย แล้วถูกโอนต่อเป็นทอดไปยังผู้รับผลประโยชน์ชาวจีนและบริษัทแห่งหนึ่งของจีน

ต่อมา บช.สอท. ได้ตรวจสอบกับฐานข้อมูลในระบบรับแจ้งความออนไลน์และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พบว่าคดีดังกล่าวกระทำเป็นลักษณะขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ มีความเกี่ยวพันกับคดีอื่นอีกจำนวน 1,351 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 2,201 ล้านบาท 

ภายหลังตำรวจไซเบอร์ได้สืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการมาดำเนินคดีได้หลายราย และประสานข้อมูลไปยัง ปปง. โดยมีนางสาวทิพย์วรรณ วรรณโสภณ ผอ.ส่วนปฏิบัติการงานคดี 4, นายพิเชส คล่องสารา นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ,นางสาวกมลชนก สุขเส้ง นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ พร้อมทีมงานเป็นบุคลากรหลักในการสืบสวนเส้นทางการเงินร่วมกับ บช.สอท. จนได้พยานหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในขบวนการดังกล่าวมูลค่ามหาศาล  

ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน ป.ป.ง. ได้มี คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.192/2567 ลง 18 ก.ย.67 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดชั่วคราว ในคดีอาญาราย นายสฤษฏ์ อดุลย์พิจิตร กับพวกผู้ต้องหา และคดีที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะคนร้ายเป็นกลุ่มขบวนการเดียวกัน


จึงร่วมกัน ตรวจยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ได้แก่ ฉโนดที่ดิน คอนโดหรู และเงินฝากในบัญชีธนาคาร รวมทั้งโครงการคฤหาสน์หรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนที่ดินประมาณ 30 ไร่ ติดถนนสนามบินน้ำ ที่คาดว่าจะมีราคาเริ่มต้นที่ 100 ล้านบาทจนถึงถึง 700 ล้านบาทต่อหลัง ที่เคยเป็นข่าวดังไปก่อนหน้านี้ รวมยึดและอายัดทรัพย์ทั้งสิ้น จำนวน 52 รายการ มูลค่า 2,561,188,503.70 บาท  

จากนั้น ปปง. มีประกาศสำนักงาน ปปง. ลง 24 ก.ย.67 เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานในคดีอาญารายนายสฤษฏ์ อดุลย์พิจิตร กับพวกผู้ต้องหา และคดีที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะคนร้ายเป็นกลุ่มขบวนการเดียวกัน โดยกำหนดให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด
มูลฐานในรายคดีดังกล่าว ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง. ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 ธ.ค.67)

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.67 เวลา 10.00 น. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. ได้เข้าพบ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ป.ป.ง. และ นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการ ป.ป.ง. ณ สำนักงาน ปปง. เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว และได้เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน จัดงานรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเพื่อเฉลี่ยทรัพย์กว่า 2,500 ล้านบาท คืนให้แก่ผู้เสียหายกว่า 1,500 คน ในคดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยให้ผู้เสียหายที่มีสิทธิ์มายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์คืน ได้ตั้งแต่ วันที่ 17 – 20 ธ.ค.67 ณ อาคารประชุมสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ตำรวจไซเบอร์#ปปง.#ข่าวอาชญากรรวันนี้#จเรฯหวาน#ผู้บัญชาการอรรถ