“สนธิ ลิ้มทองกุล” บุกยื่น 6 ข้อเรียกร้องถึง นายกฯ จี้ยกเลิก MOU2544 พร้อม JC2544 ให้รักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติตามพระบรมราชโองการฯปี 2516 เสนอให้จัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ขีดเส้นตายให้เวลา 15 วัน
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และคณะบุคคลได้ยื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีหยุดการปฏิบัติหน้าที่การดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปราชาณาอาณาจักรไทยกับกัมพูชา (MOU 2544) และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยกับ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) เพราะมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการในการประกาศทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง ตลอดจนประกาศเส้นเขตไหล่ทวีป ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1985 และกฎหมายอื่น รวมทั้งยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และยังไม่มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ด้วยเหตุผลดังนี้
ข้อ 1 ประเทศไทยได้ลงนามในหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า “เกาะกูด” เป็นของสยาม
ข้อ 2 ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2509 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศกำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตประเทศไทยมีระยะ ”12 ไมล์ทะเล“ โดยวัดจากเส้นฐานที่ใช้สำหรับวัดความกว้างของทะเลอาณาเขต เป็นการประกาศ “อำนาจอธิปไตย” ออกไปจากอาณาเขตพื้นดินและน่านน้ำภายในจนถึงแนวทะเลประชิดชายฝั่ง ซึ่งเรียว่า“ทะเลอาณาเขต” รวมตลอดถึงห้วงอากาศเหนือทะเลอาณาเขต พื้นท้องทะเล และแผ่นดินใต้พื้นท้องทะเลของทะเลอาณาเขต ผู้ใดและชาติใดจะละเมิดมิได้
ข้อ 3 ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2512 โดยมีผลบังคับใช้สำหรับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2511 ส่งผลการยืนยันประกาศพื้นที่ของประเทศไทยทั้ง “น่านน้ำภายใน” และ “ทะเลอาณาเขต”ว่าเป็น “อำนาจอธิปไตย” ของประเทศไทยตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958
อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ยังได้กำหนด “เขตต่อเนื่อง” ขยายไปอีก 12 ไมล์ทะเลต่อจากทะเลอาณาเขต สำหรับเป็นพื้นที่ป้องกันการละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร รัษฎากร การเข้าเมือง หรือการอนามัย ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของประเทศไทยอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ยังกำหนดด้วยว่าหากไม่มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น รัฐทั้งสองอยู่ตรงข้ามหรือประชิดกันให้ใช้ “เส้นมัธยะ” คือ จุดทุกจุดบนเส้นนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดของเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของแต่ละรัฐ
ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2513 ได้มีประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องเส้นฐานตรงและน่านน้ำภายในของประเทศไทย โดยมีเส้นที่ลากเส้นจาก “หลักเขตที่ 73” ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดไปยังปลายแหลมด้านใต้สุดของ “เกาะกูด” นั้นเป็น “เส้นฐานตรง” โดยพื้นที่เหนือเส้นฐานตรงบริเวณนี้เป็น “น่านน้ำภายใน” ของราชอาณาจักรไทย มีอำนาจอธิปไตยเหมือนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทยทุกประการ
เมื่อ “เกาะกูด”เป็นของประเทศไทยตามหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ดังนั้น พื้นที่รอบเกาะกูด 12 ไมล์ทะเลของราชอาณาจักรไทย และน่านน้ำภายในของราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเขตแดนทางทะเลที่อยู่ใน “อำนาจอธิปไตย” ของราชอาณาจักรไทย ผู้ใดและชาติใดจะละเมิดมิได้
ดังนั้นพื้นที่เหนือของเส้นฐานตรงที่ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ถึงปลายแหลมสุดทิศด้านใต้ของเกาะกูดของราชอาณาจักรไทย จึงอยู่ใน“อำนาจอธิปไตย” ของราชอาณาจักรไทย รวมทั้งทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเส้นฐานของเกาะกูดก็เป็นเขตที่อยู่ใน “อำนาจอธิปไตย” ของราชอาณาจักรไทยเช่นเดียวกัน อันเป็นไปตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ซึ่งผู้ใดหรือชาติใดจะละเมิดมิได้
ข้อ 4 ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2516 เพื่อประกาศสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย โดยได้แนบแผนที่ซึ่งลากเส้นเขตไหล่ทวีปจากหลักเขตที่ 73 แบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดของประเทศไทยกับเกาะกงของกัมพูชา เป็น “เส้นมัธยะ” แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่มีพื้นที่อ้างสิทธิอธิปไตยจากประเทศอื่น ไม่มีการแบ่งปันการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในอ่าวไทยให้กับประเทศอื่นใด ซึ่งเป็นไปตามหลัก “เส้นมัธยะ” ของมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง ค.ศ. 1958 พระบรมราชโองการประกาศฉบับนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขวิธีการเจรจาตกลงกระหว่างประเทศใกล้เคียงในอนาคตด้วยว่าต้องเป็นไปตามมูลฐานกฎหมายทะเลสากลเท่านั้นไม่ใช่การเจรจาตกลงกันตามอำเภอใจ
ทั้งนี้ ราชอาณาจักรไทยได้ยึดถือและปกป้องอำนาจอธิปไตยน่านน้ำทะเลภายในและทะเลอาณาเขต ตลอดจนรักษาสิทธิอธิปไตยตามเส้นเขตไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการทุกฉบับ โดยได้ยึดถือมูลฐานแห่งบทบัญญัติของอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 มาโดยตลอด และต่อมาประเทศไทยได้มีการลงนามและยึดถือมูลฐานตามที่กำหนดในอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) ที่ได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ด้วย
ข้อ 5 อย่างไรก็ตาม MOU 2544 ได้แนบแผนที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ “รับรู้” โดย “ไม่ปฏิเสธ” เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาตามพระราชกฤษฎีกาประกาศเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาเมื่อปี 2515 ก่อให้เกิดการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีขนาดใหญ่เกินจริง โดยไม่ยึดหลัก “เส้นมัธยะ” อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อประเทศกัมพูชาเกินกว่าหลักมูลฐานตามบทบัญญัติของอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958
การอ้างสิทธิดังกล่าวจึงส่งผลทำให้เป็นการเปลี่ยนแปลง “หลักการ” สำคัญของอำนาจอธิปไตย และสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย คือ เกิดการละเมิดอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรไทยบริเวณพื้นที่ “น่านน้ำภายใน”เหนือเส้นฐานตรงด้านทิศตะวันออกของเกาะกูด และการละเมิดอำนาจอธิปไตยทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด และไม่ยึดหลักเส้น “มัธยะ” เพียงอย่างเดียวที่ลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 ตามพระบรมราชโองการสมัยรัชกาลที่ 9 แต่กลับไปยึดถือ “เขตแดนแนวทางอื่น” ในการเจรจาตกลงกันเองระหว่างไทยและกัมพูชาในพื้นที่อ้างสิทธิเกินจริงของกัมพูชา รวมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กัมพูชาเป็นหลัก
ดังนั้นการดำเนินการตาม MOU 2544 ที่ถูกรับรองโดย JC 2544 จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการ ประกาศกำหนดทะเลอาณาเขต เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2509 และพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ซึ่งได้ยึดหลัก “เส้นมัธยะ” แห่งมูลฐานตามบทบัญญัติของอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958
ข้อ 6 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ซึ่งลงนามใน MOU 2544 ได้เคยเขียนบทความเมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 ยอมรับว่า MOU 2544 มีสถานะเป็น “สนธิสัญญา” ในขณะที่ นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ อดีตหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซียได้เขียนบทความ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 แนะนำว่า ฝ่ายไทยจะต้องรีบบอกเลิก MOU 2544 โดยเร็ว มิฉะนั้นแล้วฝ่ายไทยจะเสียเปรียบหากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยได้ “รับรู้” และ “ไม่ปฏิเสธ” แผนที่ที่มีการอ้างสิทธิเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาตาม MOU 2544 อาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบซ้ำรอยการถูกตัดสินโดย “หลักกฎหมายปิดปาก” ที่ประเทศไทยเคย “รับรู้”และ “ไม่ปฏิเสธ” แผนที่แนบท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 เป็นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 ในการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมาแล้ว
ข้อ 7 เมื่อพิจารณาตาม MOU 2544 แล้ว จะพบว่าประเทศไทยมีแต่จะเสียประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะไม่ว่าผลการเจรจาจะเป็นประการใด ประเทศไทยก็จะต้องสูญเสียสิทธิอธิปไตยในพื้นที่ในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยของราชอาณาจักรไทยฝ่ายเดียวให้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยและกัมพูชาซึ่งมีพื้นที่อย่างน้อย 16,000 ตารางกิโลเมตรขึ้นไปใต้พื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชาใต้ละติจูด 11 องศาเหนือ หรือถึงขั้นสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางทะเลไปมากกว่านี้ได้ด้วย
ผลลัพธ์ดังกล่าวจึงย่อมส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อสิทธิอธิปไตยมากกว่าวิธีการเจรจาด้วย “เส้นมัธยะ” ตามมูลฐานที่บัญญัติเอาไว้ภายใต้อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 เมื่อ MOU 2544 ซึ่งได้รับรองโดย JC 2544 มีผลทำให้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตอำนาจแห่งรัฐทางทะเลที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภากรณีจึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตั้งแต่แรกและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น MOU 2544 ที่รับรองโดย JC 2544 ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงย่อมเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ด้วยเช่นเดียวกัน
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านหยุดการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการตาม MOU 2544 และ JC 2544 โดยทันที และดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอดังต่อไปนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
1)ให้ท่านและคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง และเขตไหล่ทวีปซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย ผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงแห่งรัฐในพื้นที่ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด รวมทั้งเขตไหล่ทวีปตามพระบรมราชโองการที่ประกาศตามมูลฐานแห่งอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) อันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ตามบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 52 ของหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
2) ให้ท่านเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตั้งแต่แรก และขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ รวมทั้งขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยหรือไม่ อันเป็นการดำเนินการตามมาตรา 178 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้ได้ข้อยุติในข้อสงสัยนี้เสียก่อน
3) หากดำเนินการตาม ๒) แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU 2544และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกการเจรจาตาม MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที
4) หากดำเนินการตาม 2) แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC 2544 ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการเจรจากับกัมพูชาเพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยให้เจรจากันใหม่ภายใต้การกำหนดขอบเขตเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการของ “เส้นมัธยะ” ในการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนตามจริงของมูลฐานแห่งบทบัญญัติอนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1958 ประกอบกับอนุสัญญาสหประชาชาติด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 แล้วนำผลของการเจรจาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้เจรจาเสร็จสิ้น ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็นพระราชโองการ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 1 และมาตรา 178 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อไป
5) ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ตาม MOU 2544 และ JC 2544ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้อง
6) ให้จัดเวทีสาธารณะให้แก่ประชาชนในเรื่อง MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้มีความเห็นของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งที่มีความเห็นต่างและที่มีความเห็นด้วยในเวทีอภิปรายสาธารณะซึ่งมีความเป็นกลางและเป็นธรรม ในสัดส่วนของเวลาที่เท่ากัน เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้ท่านเสนอหนังสือฉบับนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และหากคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วมีผลเป็นประการใดขอได้โปรดแจ้งข้าพเจ้าได้ทราบ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาหนังสือฉบับนี้ ”ข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุ