อาถรรพ์อาชีพตำรวจ ใช้ทางมิชอบต้องนอนคุก

533

    หากจะมองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร อยู่ในช่วงขาขึ้นคงไม่ผิดนักเพราะหลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งผู้บัญชาการ(ผบช.)ป้ายแดงนั่งรักษาราชการฯต่างสร้างผลงานปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ ทั้งอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงการปราบปรามยาเสพติด

     แต่เนื่องด้วยเป็นองค์กรใหญ่บวกกับปัญหาบุคลากรถูกละเลยมานานไม่ว่าจะเป็นด้านฝึกยุทธวิธีหรือสำนึกในหน้าที่ ทำให้ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเกิดเหตุฉาวโฉ่เมื่อตำรวจกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.)7 นายทำเกินกว่าเหตุละเลยการทำงานแบบไร้ยุทธวิธีทั้งการจับกุมและการตรวจสอบข้อมูลรุมสะกรัมชาวบ้านที่ไร้ความผิดปางตาย

       รวมถึงกรณีตำรวจชั้นประทวน สภ.แสนสุข ชลบุรี ใช้เล่ห์เหลี่ยมตุ๋นเงิน 250,000 บาทจากผู้เสียหายหญิงวัย 70 ปี ที่ถูกฉ้อโกงทางออนไลน์โดยอ้างว่าจะช่วยติดตามเงินที่ถูกฉ้อโกงคืนให้

     เมื่อถึงบทสรุปสุดท้ายตำรวจจราจรทั้ง 7 นายและตำรวจชั้นประทวน สภ.แสนสุข ต้องถูกดำเนินคดีอาญาอย่างแน่นอน ทั้งสองกรณีเสมือนเป็นรอยด่างให้กับองค์กรสีกากีที่กำลังอยู่ในภาวะขาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      ทั้งสองกรณีเป็นคดีอาชญากรรมที่ไม่ซับซ้อน สังคมเห็นผู้กระทำผิดชัดเจน แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ตำรวจใช้อาชีพตำรวจประกอบธุรกิจในทางมิชอบไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสีเทาหรือทำธุรกิจเชิงต้มตุ๋น ซึ่งไม่ปรากฏเป็นข่าวแต่ต้องโทษเดินคอตกเข้าคุก

   “ประดู่แดง”ขอนำเสนอเป็นอุทาหรณ์ว่าตำรวจที่ประพฤติมิชอบเมื่อถึงเวลาจะเจออาถรรพ์ต้องนอนคุก ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกถึง 7 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 2567  เนื้อหาของคดีและคำพิพากษาพอสรุปได้ว่า นายหรง โจทก์ เป็นบุคคลสัญชาติจีนเข้ามาเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งช่วงปี 2552-2555  จากนั้นทำงานอยู่ในประเทศไทยและสมรสกับสาวไทย

    ต่อมาได้ติดต่อกับ พ.ต.อ.หญิงประจำโรงพยาบาลตำรวจและทำธุรกิจเกี่ยวกับรับต่อวีซ่า(ตราประทับหนังสือเดินทาง)ให้แก่ชาวต่างชาติรวมถึงรับเรื่องของสัญชาติไทย วีซ่านักเรียน และอ้างว่าเป็นเจ้าของบริษัทวีซ่าฯ โดย พ.ต.อ.หญิง จำเลย 1 ได้ติดต่อโจทย์ผ่านไลน์ ใช้ชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทซันฯ และจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท วีซ่าฯ

         โดยจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 ออกหน้าเป็นเจ้าของกิจการและให้จำเลยที่ 2 ใช้สถานที่หลอกลวงโจทย์และประชาชนให้จ่ายเงินให้ เพราะสถานที่บริษัทมีความน่าเชื่อถือและติดป้ายThailand Elite ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล ดำเนินการภายใต้บริษัท ไทยแลนด์ฯขายบัตรอีลิท คาร์ดให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย โดยสมาชิกไทยแลนด์อีลิทคาร์ด มีประเภท 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี ราคาค่าธรรมเนียมแตกต่างกัน

  ต่อมาระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน  – 3 ธันวาคม 2565 จำเลยที่ 1 และ 2 ติดต่อโจทย์อ้างว่าสามรถดำเนินการสมัครเป็นสมาชิกไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด ได้ในราคาที่ถูกกว่าบริษัท ไทยแลนด์ฯและใช้เวลาดำเนินการน้อยกว่าจากปกติ 3 เดือน แต่จำเลยที่ 1 สามารถดำเนินการได้ภายใน 3-5 วัน ทำให้โจทย์หลงเชื่อโอนเงินให้จำเลยที่ 1 หลายครั้ง

  ศาลพิเคราะห์ว่าแม้การโอนเงินของโจทย์จะทำหลายคราว แต่เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นภายหลัง เป็นผลสืบเนื่องจากการหลอกลวงในครั้งแรก ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใดขึ้นใหม่ให้แตกต่าง มีเพียงการกล่าวให้ชำระเงินเพิ่มเติมบ้างในบางกรณี จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทย์เกี่ยวกับการทำอีลิทวีซ่า วีซ่านักเรียนและการขอแปลสัญชาติ เพียงครั้งเดียว โดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้ได้เงินจากโจทย์  แม้จะมีการโอนเงินต่างวาระกันเป็นความผิดกรรมเดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดเพียงสามกรรมตามที่ได้วินิจฉัยไว้

     พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกจำเลยเกี่ยวกับฉ้อโกงการทำอีลิทวีซ่ากระทงละ 3 ปี และจำคุกเกี่ยวกับการฉ้อโกงการทำวีซ่านักเรียน 1 ปี รวมจำคุก 7 ปี

    สำหรับพฤติกรรมที่ใช้ตำรวจออกหน้าหาประโยชน์เชื่อว่ายังมีอีกมาก เพราะทราบกันดีว่ายุคนี้ชาวต่างชาติพาเหรดเข้ามาทำมากินในเมืองไทยจำนวนมาก ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จนกลายช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพทั้งคนไทยและต่างชาติ ตั้งบริษัทบังหน้าหาผลประโยชน์เกี่ยวกับเอกสารที่ชาวต่างชาติต้องใช้ระหว่างอาศัยอยู่ในเมืองไทย ซึ่งมีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องและบริษัทเถื่อน และเพื่อให้ลูกค้าเกิดความน่าเชื่อถือจะดึงตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมายเข้าร่วมหุ้นและออกหน้า ใช้ผลประโยชน์ที่เป็นเพียงเศษเงินล่อใจ เมื่อบริษัทดำเนินการสะดุดตำรวจที่ออกหน้าจะเป็นแบบเดียวกับ พ.ต.อ.แห่งโรงพยาบาลตำรวจ นอกจากต้องนอนคุกแล้ว ยังทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรตำรวจอีกด้วย

   ดังนั้นถ้าตำรวจคนไหนมีพฤติกรรมดังกล่าวควรรีบถอยห่างก่อนภัยจะมาถึงตัว เพราะอย่าลืมว่าอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่มีเกียรติยศและศักดิ์ศรี หากตำรวจคนไหนใช้เป็นเครื่องมือแสวงประโยชน์โดยมิชอบ จะเจออาถรรพ์แห่งวิบากกรรม จบไม่สวยถูกให้ออกจากราชการ แถมโดนดำเนินคดีแล้วเดินคอตกเข้าคุก

     แม้แต่ยศ พล.ต.อ.ยังหนีไม่พ้นวิบากกรรมที่ก่อไว้ แถมติดจรวดอีกต่างหาก !!!