ฅนขี้เล่า ตอนที่ 1 “ฟักเอ๋ย ฟักทอง”

429

“หำช้าง ตีนช้าง กระโถน คางคก ไข่เน่า งู สาก น้ำเต้า กระเหรี่ยง มันลืมผัว หอมใบเตย เงือกสองใจ เพชรภูกระดึง …”

ชื่อเหล่านี้หากไม่ได้อยูในวงการ ก็อาจคาดเดาไม่ออกว่าคือชื่อของสิ่งใด และอาจไม่อยากจะเชื่อหากผมบอกว่าคือชื่อของ ฟักทอง ส่วนหนึ่งคือพันธ์พื้นเมือง และบางชื่อจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ผสมออกมาโดยเกษตรกรไทยคนเก่งของเรา กล่าวกันว่า ในปี 2567 คือปีทองของคนรักฟักทอง เพราะมีสายพันธุ์ดีๆ ที่คัดกันมาอย่างดีแล้วให้ได้ชิมกัน มีเมล็ดพันธุ์ที่นำไปปลูกต่อได้ไม่สิ้นสุด เสมือนเป็นพันธุ์เปิดที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ รู้ไหมครับ ฟักทองบางสายพันธุ์ราคากิโลกรัมละ 100 บาท และบางสายพันธุ์ต้องจองกันข้ามปีเลยนะครับ

เมื่อเริ่มปลูกฟักทองโดยการหยอดเมล็ด ใช้เวลาประมาณ 35-45 วันก็จะเริ่มติดดอก แบ่งเป็นดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอย่างชัดเจน สังเกตง่ายๆ ดอกตัวผู้ก็เหมือนดอกไม้ทั่วไป จะมีดอกตั้งแต่ข้อแรกๆ จนถึงข้อที่ 10 เกสรตัวผู้ลักษณะมีเดือยโผล่มาให้เห็นสีเหลืองทอง ส่วนดอกตัวเมียจะมีกระเปาะผลเล็กๆ มองเห็นได้ชัดเจน จะเริ่มมีดอกตัวเมียประมาณข้อที่ 11 การปลูกโดยทั่วไปก็จะมีแมลงมีช่วยผสมพันธุ์ โดยการชักนำเกสรตัวผู้ไปติดที่ดอกตัวเมีย เมื่อผสมติดผลก็จะเติบโตต่อไป หากผสมไม่ติดก็จะฝ่อไป ในช่วงที่ผสมติดแล้วเกษตรกรจะเด็ดยอดออก เพื่อจะทำให้ได้ผลฟักทองที่ใหญ่มากขึ้น ดอกตัวผู้ 1 ดอกสามารถไปเขี่ยใส่ดอกตัวเมียได้ถึง 3 ดอก

ข้อสังเกต หากปลูกฟักทองในช่วงฤดูร้อน-ฝน จะมีดอกตัวผู้มากกว่า หากปลูกฟักทองในช่วงฤดูหนาวจะได้ดอกตัวเมียที่มากกว่า ดังนั้นการปลูกแต่ละช่วงก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย การผสมพันธุ์ เราจะแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ ผสมแบบเปิด นั่นก็คือการปล่อยให้ธรรมชาติจัดการเอง ให้แมลงหรือตัวเราผสม แต่ไม่ได้ทำอะไรต่อ ส่วนการผสมแบบปิดจะอยู่ที่เราเป็นผู้ผสม เมื่อผสมเสร็จแล้วก็คลุมดอกตัวเมียไว้ ไม่ให้มีการผสมจากเกสรตัวผู้อื่นได้อีก ทำให้ได้พันธุ์ตามที่เราต้องการ และส่วนมากเมล็ดพันธุ์จากการผสมแบบปิดทางสวนจะไม่ได้แบ่งให้ใคร เพราะถือเป็นพันธุ์เฉพาะของแต่ละสวนนั้นๆ


การเก็บผลผลิตฟักทองมีทั้งพันธุ์หนักและพันธุ์เบา อายุตั้งแต่ 75-100 วันจะเก็บผลผลิตได้ ข้อแนะนำจากเซียนที่ปลูกฟักทองมายาวนานบอกว่า หากต้องการฟักทองที่แก่จัดจริงๆ ให้เก็บตอนทิ้งต้น(เครือเริ่มเหี่ยวแห้ง) แล้วนำมาวางในร่มไว้ประมาณ 7 วันขึ้นไป ขั้นตอนนี้เรียกว่าการบ่มฟักทอง เพื่อให้มีการคายน้ำ เพิ่มความหวานมันมากขึ้น และยิ่งเก็บไว้นานยิ่งมีรสชาติเข้มข้นมาก

ฟักทองเป็นได้ทั้งส่วนประกอบของอาหารหวานและคาว ฟักทองเชื่อม ฟักทองทอด ฟักทองอบกรอบ ฟักทองนึ่งโรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด เดาะเกลือ โปรยน้ำตาลทรายสักนิดคือเมนูหลักๆ ในการแปรรูปของหวาน ส่วนอาหารคาวก็ประมาณ แกงฟักทอง ฟักทองผัดไข่ แกงอ่อมฟักทอง ซุปฟักทอง กระทั่งนึ่งมาแกล้มน้ำพริก

กระซิบนะครับ เปลือกฟักทองมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการหลั่งสารอินซูลินในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วยนะครับ ดังนั้น กินทั้งเปลือกได้จะยิ่งดีครับ

                   ทิดโสโม้ระเบิด