Kick Off โครงการฟื้นฟูสกัดการระบาดโรค แมลงศัตรูพืช พื้นที่น้ำท่วม จ.เชียงใหม่

246

Kick Off โครงการฟื้นฟูสกัดการระบาดโรค แมลงศัตรูพืช พื้นที่น้ำท่วม จ.เชียงใหม่

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาส่งผลกระทบให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกไม้ผล จ.เชียงใหม่ ซึ่ง ศ.ดร นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้เร่งสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วมอย่างเร่งด่วน กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัดงาน Kick Off โครงการฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม ณ อาคารอเนกประสงค์ บ้านสบงาย หมู่ 5 อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อพบปะเกษตรกร รับฟังปัญหา พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา และเมล็ดพันธุ์ผัก ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

พร้อมกันนี้ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ ยังได้ร่วมกับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด และ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นำร่องใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สาธิตการพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อฟื้นฟูไม้ผลหลังน้ำท่วม สาธิตและขยายผลการใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียบาซีลัส พ่นเพื่อป้องกันโรคพืชทางใบ ในพื้นที่แปลงเกษตรกรผู้ปลูกลำไย10 ไร่ โดยใช้ชีวภัณฑ์อัตรา 100 กรัม ผสมน้ำ 25 ลิตร พ่นในพื้นที่ 1 ไร่ อัตราการใช้สารขึ้นกับขนาดของต้น และจำนวนต้นต่อไร่ พร้อมจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้การฟื้นฟูและสกัดการระบาดโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม บรรยายเทคโนโลยีการดูแลรักษาสวนไม้ผล และจัดนิทรรศการการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช

นายรพีภัทร์ กล่าวว่า แนวทางการฟื้นฟู และสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ฉุกเฉินในพื้นที่น้ำท่วม กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ความรู้เทคโนโลยีการดูแลรักษาสวนไม้ผล การใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช โดยต้องเร่งสกัดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชฉุกเฉิน ก่อนจะก่อให้เกิดความเสียหายและไม้ผลจะยืนต้นตายในที่สุด ทั้งนี้กรมฯจะขับเคลื่อนโครงการฯในไม้ผล ประกอบด้วย ลำไย ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ทุเรียน และลิ้นจี่ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พร้อมกับหารือการขับเคลื่อนการปรับปรุงหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้วยโดรน ให้สอดคล้องกับกฎหมาย หลักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปฏิบัติของเกษตรกรและผู้รับจ้าง รวมถึงบริบทของการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสต่อไปจะได้เชิญบริษัทอื่นๆ และสมาคมที่เกี่ยวข้อง ที่มีศักยภาพในเรื่องโดรนทางการเกษตร ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ และแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรการพ่นวัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตด้วยเทคโนโลยีตามนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#โครงการฟื้นฟูสกัดการระบาดโรค แมลงศัตรูพืช พื้นที่น้ำท่วม จ.เชียงใหม่