ห้วงหลายปีที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลายเป็นองค์กรที่สุจริตชนไม่ค่อยไว้วางใจที่จะไปพึ่งพาเมื่อประสบเหตุหรือกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรม อาจจะเป็นเพราะผู้นำบางยุคไร้ศักยภาพการบริหารจัด ขาดประสบการณ์ในการทำงาน เติบโตด้วยระบบวิ่งเต้น ยอมเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมือง
ส่งผลให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาพวกอินฟลูเอนเซอร์ เพราะร้องเรียนเห็นผลทันตา ทำให้เอนฟลูเอนเซอร์แจ้งเกิดจำนวนมาก บางคนใช้เป็นช่องทางหาประโยชน์ด้วยการร่วมมือกับผู้สื่อข่าวบางคนวางแผนสร้างประเด็นข่าวใช้สื่อในมือตีปี๊บจนสังคมให้ความสนใจแล้วหาช่องตบทรัพย์ทั้งจากเหยื่อและคู่กรณี
ซึ่งเหยื่ออาชญากรรมคือช่องทางที่อินฟลูเอนเซอร์ ใช้เป็นเครื่องมือสร้างชื่อเสียงและหาประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะองคาพยพในสายงานตำรวจอยู่ในอาการอ่อนเพลี้ย ระดับปฏิบัติการขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน ผู้นำตั้งแต่ระดับบนถึงล่างไร้ภาวะผู้นำ การลงโทษตำรวจนอกแถวเป็นไปในลักษณะลูบหน้าปะจมูกและเลือกปฏิบัติ
อย่างกรณีอื้อฉาวที่เป็นข่าวดังในห้วงเวลานี้ไม่ว่าจะเป็น กรณีอาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจแจ้งจับภรรยาอดีตบิ๊กตำรวจลักทรัพย์จนลามเป็นประเด็นชู้สาว หรือกรณี ร.ต.อ.ตั้งแก๊งลักทรัพย์หรือกรณีพนักงานสอบสวนอมเงินเหยื่อที่คู่กรณีชดใช้ให้ แต่ละกรณียังไม่ความชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาของแต่หน่วยถูกดำเนินการทางปกครองอย่างไร
ดังนั้นเพื่อตัดไปแต่ต้นลม ไม่ให้ภาพลักษณ์องค์กรถูกฉุดให้ตกต่ำกว่านี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะเบอร์ 1 ต้องเร่งหามาตรการมากำกับสกัดไม่ให้ลุกลาม จนกลายเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีเขย่าเก้าอี้ให้สั่นไหวได้ เท่าที่ตรวจสอบดูในเวลานี้มีอย่างน้อย 2 แนวทางที่ทำได้ทันที
แนวทางแรกนำคำสั่งที่ 1212/2537 ว่าด้วยเรื่อง มาตรการควบคุมและส่งเสริมความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ ออกสมัยมพล.ต.อ.พจน์ บุณยจินดา เป็นอธิบดีกรมตำรวจ(อ.ตร.) แต่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะมี อ.ตร.และผบ.ตร.หลายคนนำมาบังคับใช้อยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งบางกรณีบังคับใช้แบบเข้มข้น บางกรณีบังคับใช้แบบเลือกปฏิบัติผ่อนปรนกับพวกตัวเอง อาทิ ถ้าเกิดในระดับโรงพัก บังเอิญหัวหน้าโรงพักเป็นสายตรงบิ๊กตำรวจ การลงโทษจบแค่ รองผู้กำกับการ(รอง ผกก.)หรือสารวัตร(สว.)เท่านั้น ขอยกตัวอย่างกรณีปล่อยให้มีบ่อนการพนันในพื้นที่ เมื่อหน่วยอื่นเข้าจับกุมจะสั่งลงโทษ 5 เสือโรงพัก ทั้งที่ในความเป็นจริงต่างทราบกันดีในแวดวงสีกากีว่าบ่อนการพนันถ้าไม่มีไฟเขียวจากผู้บังคับการหรือ ผกก.โอกาสเปิดยากมาก บางท้องที่ระดับผู้บัญชาการ(ผบช.)ลงมาจัดการเองด้วยซ้ำ เมื่อเกิดเหตุจะไปตกที่ 5 เสือโรงพัก ทั้งที่คำสั่งที่1212/2537 ระบุไว้ชัดว่าใน ข้อ 2 มาตรการควบคุม ทั้ง 2.3 และ2.4 รวมถึงข้อย่อยพอสรุปได้ว่า ถ้า ตร.พิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ จะเกี่ยวพันในทุกระดับตามแต่กรณี
แนวทางที่ 2 ให้ความสำคัญกับสำนักงานจเรตำรวจ ผลสอบสวนที่มีการร้องเรียนต้องนำไปบังคับใช้ให้เป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมาจเรตำรวจถูกมองว่าเป็นแค่เสือกระดาษหรือยักษ์ไม่มีกระบอง ทำให้ตำรวจที่ถูกสอบสวนไม่เกรงกลัว บ่อยครั้งสำนักงานจเรตำรวจ มีไว้เพื่อรองรับตำรวจที่ไร้เส้นไร้พวกหรือไว้รองรับตำรวจเคยอยู่กับขั้วอำนาจเก่า บางครั้งเป็นที่รองรับตำรวจที่วิ่งเต้นมาเอาตำแหน่งที่สูงขึ้น
“ถ้ามองถึงความเป็นจริงแล้วสำนักงานจเรตำรวจ มีนายตำรวจที่มีศักยภาพในงานสอบสวนและทำงานตรงไปตรงมาอยู่จำนวนมาก เพียงแต่ที่ผ่านมาผู้บริหารสำนักงานตำรวจไม่ค่อยจะให้ความสำคัญเท่าที่ควร บางครั้งใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้สถานการณ์ให้ผ่อนคลายเมื่อเด็กในคาถาของบิ๊กตำรวจถูกร้องเรียนเท่านั้น”
แต่ถ้า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ จะใช้จเรตำรวจเป็นเครื่องมือควบคุมบรรดาตำรวจนอกแถว ต้องจัดการปัญหาภายในแบบเบ็ดเสร็จเสียก่อน เพราะที่ผ่านมามักจะได้ยินเสียงบ่นจากหัวหน้าหน่วยว่าถ้าให้การตรวจผ่านฉลุย ต้องมีปัจจัยตอบแทนให้กับจเรตำรวจบางคน ถ้าค้างคืนจะต้องจัดที่พักอย่างดีแถมต้องเลี้ยงดูปูเสื่อด้วย
เมื่อปัญหาดังกล่าวถูกจัดการแล้วก็ต้องให้ความสำคัญกับศูนย์ร้องเรื่องร้องทุกข์ของสำนักงานจเรตำรวจ ด้วยการคุมเข้ม เรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนต้องจัดการแบบฉับไวพร้อมแจ้งให้ผู้ร้องเรียนได้ทราบผลด้วย ถ้าทำได้เชื่อว่าบรรดาอินฟลูเอนเซอร์จะถูกลดบทบาทอย่างแน่นอน เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าจัดการได้จริงลองใช้ประเด็นอื้อฉาวที่โรงเรียนนายตำรวจนำล่อง ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้งหาต้นตอในการรับอาจารย์พิเศษที่ขาดคุณสมบัติด้วยยิ่งดี
ทั้งสองแนวทางที่นำเสนอสามารถทำได้จริงและทันทีเพียงแค่”ผบ.ตร.”สั่งกำชับแล้วจัดการให้เป็นรูปธรรมเท่านั้น เชื่อว่าภาพลักษณ์องค์กรตำรวจจะฟื้นในเร็ววันแถมช่วยสกัดไม่ให้พวกอินฟลูเอนเซอร์ใช้หาประโยชน์ได้อีกด้วย !!!