วันนี้ (22 ตุลาคม 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และจำหน่าย ยาเสพติด ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรได้ขานรับนโยบายและกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติด
ในทุกช่องทาง พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง
โดยวานนี้ (21 ตุลาคม 2567) กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามและด่านศุลกากร
ท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 ร่วมกับหน่วยสกัดกั้นยาเสพติด
ผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force: AITF) ประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ได้ร่วมกันวิเคราะห์ สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับเครือข่ายลักลอบส่งออกยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน พบชายชาวเกาหลีใต้มีความเสี่ยงลำเลียงยาเสพติดออกนอกประเทศ และมีกำหนดการจะเดินจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ประเทศไทย ปลายทางเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 20 ตุลาคม 2567 จึงทำการตรวจสอบสัมภาระ
พบกระเป๋าเดินทางทรงแข็งมีล้อลากสีดำ ระบุชื่อตรงกับผู้โดยสารต้องสงสัยจึงนำกระเป๋าเดินทางดังกล่าวไปตรวจสอบเบื้องต้นด้วยเครื่องเอกซเรย์ ปรากฏภาพภายในกระเป๋ามีวัตถุต้องสงสัย ลักษณะหนาแน่นผิดปกติ จึงได้เชิญผู้โดยสารต้องสงสัยซึ่งเป็นเจ้าของกระเป๋า นำตรวจค้นกระเป๋าเดินทางดังกล่าว จากการตรวจค้นพบ เสื้อผ้า กล่องสบู่ จำนวน 30 กล่อง และสัมภาระอื่น ๆ เมื่อตรวจสอบด้านในสบู่พบพลาสติกใส บรรจุเกล็ดสีขาวอัดแน่นเป็นก้อนรูปสี่เหลี่ยม จึงนำตัวอย่างวัตถุต้องสงสัยมาทดสอบเบื้องต้นด้วยน้ำยาเคมี ONCB 051 MARQUIS REAGENT ให้ผลเปลี่ยนจากสีใสไม่มีสี เป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 6,000 กรัม มูลค่า 1.8 ล้านบาท
การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามนำยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน(ไอซ์) ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน(ไอซ์)
ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และเป็นความผิดตามมาตรา 242
มาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัย โดยเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดและสินค้าตามนโยบายรัฐบาล สำหรับในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 21 ตุลาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 10 คดี มูลค่ารวม 28.81 ล้านบาท