ป.ป.ส. เป็นเจ้าภาพร่วมในพิธีปิดโครงการ “ปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัย”

567

ป.ป.ส. เป็นเจ้าภาพร่วมในพิธีปิดโครงการ “ปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัย
เพื่อการควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ (กัมพูชา จีน สปป.ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม)ประจำปี 2567

วันที่ 17 ตุลาคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) มอบหมายให้ นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีปิด ปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัย 6 ประเทศ ประจำปี 2567 (Safe Mekong Joint Operation 2024) โดยสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าภาพร่วมในพิธีปิด โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ (Office of National Narcotics Control Commission : NNCC) สาธารณรัฐประชาชนจีน
ในปี พ.ศ.2567 สำนักงานคณะกรรมาธิการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติ (NNCC) สาธารณรัฐประชาชนจีน และสำนักงาน ป.ป.ส. ประเทศไทย ได้ดำเนินการเป็นเจ้าภาพร่วมโครงการ
Safe Mekong Joint Operation 2024 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2567 รวมเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากประเทศสมาชิกทุกประเทศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานภายใต้โครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย ในการร่วมกันขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของแต่ละประเทศสมาชิก ตามกรอบความร่วมมือแผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยฯ ที่ประเทศสมาชิกได้เห็นชอบร่วมกัน และมีการรายงานผลสำเร็จในการปฏิบัติงานให้กับประเทศเจ้าภาพได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ตลอดห้วงระยะเวลา 3 เดือนนั้น หน่วยงานด้านยาเสพติดของทั้ง 6 ประเทศ ได้กระชับความร่วมมือระหว่างกันโดยประสานงานแลกเปลี่ยนการข่าว วิเคราะห์สถานการณ์ยาเสพติด จัดตั้งชุดปฏิบัติการและบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน รวมถึงการประสานงานคดียาเสพติดเพื่อดำเนินการการจับกุมต้องหาหลบหนี โดยสามารถจับกุมคดียาเสพติดได้รวม 11,000 คดี ควบคุมตัวผู้ต้องหาที่เกี่ยวกับยาเสพติดได้กว่า 18,000 ราย ตรวจยึดของกลางยาเสพติดรวม 35.5 ตัน และร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ 6 ราย

​การดำเนินงานขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัยฯ ของไทยนั้น สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายตามแผนปฏิบัติการ่วมแม่น้ำโขงปลอดภัย โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์มิให้ถูกลักลอบนำเข้าไปในแหล่งลักลอบผลิตยาเสพติด รวมถึงการสกัดกั้นมิให้ยาเสพติดที่ถูกลักลอบผลิต ถูกส่งออกจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ผ่านไปยังประเทศสมาชิก โดยกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย ครอบคลุมพื้นที่ของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 และ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ นบ.ยส.24 เป็นกลไกการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ในการสกัดกั้น และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถสกัดกั้นจับกุมเครือข่ายการค้ายาเสพติดพื้นที่ชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติดพื้นที่ชายแดนได้เป็นอย่างดี

ความร่วมมือสำคัญอีกประการ คือ การประสานติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดียาเสพติดระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ สปป.ลาว ในการติดตามและจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับคดียาเสพติดส่งให้กับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการเพิ่มระดับความร่วมมือในการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดียาเสพติดระหว่างประเทศสมาชิกให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

​ในปี พ.ศ.2568 สำนักงาน ป.ป.ส. โดย ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย ได้กำหนดแผนปฏิบัติการรองกับการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมแม่น้ำโขงปลอดภัย เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง ทั้งด้านการสกัดกั้น ปราบปรามการค้าสารตั้งต้น เคมีภัณฑ์ และยาเสพติด ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ประเทศสมาชิก เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคต

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ปปส.