”สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน“ บุก สตง.ยื่นร้องเรียนคัดค้าน กรณี กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นชอบตามหนังสือคัดค้านให้เปลี่ยนคณะกรรมการสืบสวนและไต่ส่วน กกต.
วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่สำนักงานตรวจการแผ่นดิน พ.ต.อ.มนัส นครศรี ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า กรณีเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ได้มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในประเด็นคัดค้านคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน กกต.(ทั้งคณะ) กรณีสืบเนื่องจากในขณะปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ พบว่าผู้อำนวยการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือก (กปล.) กลุ่ม 6 มีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
จึงทำบันทึกเสนอต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิคตามแบบที่ กกต.กำหนด ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วมีมติเห็นว่ากรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฎซึ่งมีหลักฐานพอสมควรหรือมีมูลเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
จึงสั่งให้ดำเนินการสืบสวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2566 แต่งตั้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(ผู้ถูกร้อง)เป็นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายวิธีพิจารณาราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 13(1) และมาตรา 16 ถือว่าเป็นเหตุสภาพร้ายแรงและไม่เป็นกลาง คณะกรรมการสืบสวนและไต่ส่วนคณะนี้ไม่มีอำนาจสืบสวนและไต่สวน จึงร้องคัดค้านไปยังประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
พร้อมเสนอให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเป็นคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนแทนคณะเดิม ประกอบด้วย (1) กรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1 ท่าน เป็นประธาน (2) นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดี สำนักสอบสวนอัยการสูงสุด (เคยทำคดีอุ้มหายลุงเปี๊ยกที่จังหวัดสระแก้วและคดีเป้รักผู้การ) เป็นกรรมการ และ (3) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว หรือรองเต่า รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นกรรมการและเลขานุการ ได้เสนอหนังสือคัดค้านไป 2 ครั้ง
โดยในครั้งที่ 2 ได้แนบหลักฐานบันทึกประจำวันคดี การแจ้งความร้องทุกข์คดีอาญามาตรา 157 ดำเนินคดีอาญากับคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน (ทั้งคณะ) ของสถานีตำรวจภูธรบางปูประกอบไปด้วยแล้วก็ตาม แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจากหน่วยงานอื่นของรัฐตามข้อเสนอ และไม่มีเหตุให้ดำเนินการทางวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
เมื่อ มติ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ตามหนังสือคัดค้านคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน และขอให้ดำเนินการทางวินัยตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง จึงทำหนังสือร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 และมาตรา 231 เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองพิจารณาโดยไม่ชักช้าต่อไป
พ.ต.อ.มนัส กล่าวอีกว่าในยื่นหนังสือครั้งนี้ ครั้งนี้เป็นไปตามประกาศเจตจำนงสุจริตการบริหารงานของ กกต. ที่ยึดหลักความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียรับรู้ข้อมูลข่าวสารการบริหารและการดำเนินการในการปฎิบัติหน้าที่และภารกิจต่าง ๆ ของสำนักงาน กกต (ประกาศ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2562) ”พ.ต.อ.มนัส กล่าว“