ที่ทำเนียบรัฐบาล พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ว่า มีหลักสำคัญ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1) เรื่องที่เข้าข่ายอยู่ในเรื่อง 4 สำคัญ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป การรักษาความมั่นคงฃการรักษาความปลอดภัยให้กับสังคมและประชาชน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 2) อำนาจตามมาตรา 44 มีผลทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยในทางนิติบัญญัติหมายความว่าคำสั่งที่ออกมามีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากับกฎหมายฉบับหนึ่ง ทางบริหารหมายความว่าเป็นการสั่งให้ข้าราชการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ เช่น ที่ผ่านมามีการปรับโยกย้ายให้มาประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อน ขณะที่ในทางตุลาการสามารถใช้ในการตัดสินคดีได้ แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมา คสช. ไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายหรือยุ่งเกี่ยวในกระบวนการของงานด้านตุลาการเลยแม้แต่กรณีเดียว เพียงแต่เป็นการดำเนินการให้เรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเดินตามกระบวนการเท่านั้น
3) การใช้อำนาจตามมาตรา 44 คำนึงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เป็นเรื่องที่เร่งด่วนหากล่าช้าจะไม่ทันการณ์ทำให้เกิดความเสียหาย และก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย จึงจะนำมาตรา 44 มาใช้ และ 4) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในกรณีเฉพาะกิจ หรือเฉพาะหน้า โดยเมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปแล้วจะมีการออกกฎหมายมารองรับให้สอดรับกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนด และพระราชบัญญัติ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อให้เรื่องนั้นเกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนและถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
ทั้งนี้ คสช. ยืนยันว่าเมื่อใดที่จบภารกิจตามโรดแมป คาดว่าจะมีการออกคำสั่งในการยกเลิกคำสั่งของ คสช. ที่ผ่านมา