คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “เพราะ ‘คนป่วย’ ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นประชาชนที่เราต้องดูแล” โดยระบุว่า “ได้ฟังผู้มีอำนาจพูดถึงเรื่อง โครงการ 30 บาท และเฝ้าดูการเพิ่มงบประมาณ แต่ผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชนกลับแย่ลง คนป่วยมากขึ้น ผู้ให้บริการลำบากขึ้น
ในฐานะที่ดิฉันมีส่วนผลักดันโครงการดังกล่าว เลยขอแสดงความห่วงใย ต่อระบบการบริหารจัดการในการดูแลสุขภาพของคนไทย ที่ดูว่านับวัน จะผิดทิศผิดทางมากขึ้นทุกวัน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในหลักการที่เป็นหัวใจของระบบประกันสุขภาพ (โครงการ30 บาท) อย่างแท้จริง ซึ่งเรามุ่งเน้น
– การสร้างโอกาสที่ทัดเทียม ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล อย่างมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าคนนั้นจะจนแค่ไหน โดยไม่มีภาระทางการเงินในการดูแลสุขภาพ
– การมุ่งสู่การสร้างสุขภาพดี ให้คนไทยแข็งแรง เพื่อสังคมไทยแข็งแรงและผาสุก
– การมุ่งเน้นการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
แต่ในปัจจุบันนี้ เราต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3,197.32 บาทต่อหัว ซึ่งคิดเป็นงบรวมสูงถึง 111,179.08 ล้านบาท ต่อปี ในสมัยที่เราเริ่มต้นโครงการ เราใช้เพียง 1,202.40 บาทต่อหัว งบรวมเพียง 53,292.40 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2545 แต่แม้ปัจจุบัน จะมีการเพิ่มงบประมาณมากขึ้นเพียงใด ไม่ได้ทำให้สุขภาพคนไทยดีขึ้นเลย เห็นได้จาก
– ตัวเลขอัตราการตายของแม่ เมื่อเริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในปี พ.ศ. 2545 ที่ 15.0 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน และลดลงจนต่ำกว่า 13 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ในปี พ.ศ. 2549 แต่ปัจจุบันกลับสูงอย่างก้าวกระโดด ในปี พ.ศ. 2559 สูงถึง 26.6 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน
– อัตราการป่วยในโรคไม่ติดต่อสำคัญ ทั้งโรคความดันโลหิตสูง เพิ่ม จาก 530.75 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ. 2548 กลายเป็น 1,901 ในปี พ.ศ. 2559 โรคเบาหวาน เพิ่มจาก 490.53 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ. 2548 กลายเป็น 1,233 ต่อแสนประชากร ในปี พ.ศ. 2559
– อัตราการป่วยของโรคติดต่อ ที่เราเคยควบคุมได้แล้ว แต่กลับมาระบาดสูงขึ้น เช่น โรคอหิวาต์ ไข้เลือดออก วัณโรค พิษสุนัขบ้า
– ระบบควบคุมโรคที่เราเคยควบคุมโรคอุบัติใหม่ได้ดี เช่น โรคซาส์ โรคไข้หวัดนก เมื่อครั้งที่เริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขณะนี้กลับไม่สามารถควบคุมการป่วยด้วยโรคติดต่อใหม่ๆ ได้ เช่น ซิกาไวรัส ที่ทำให้หญิงมีครรภ์คลอดบุตรออกมาพิการ หัวเล็ก สมองไม่โต
-มีการใช้งบประมาณรายหัวเพิ่มขึ้นถึง 266% จากจุดเริ่มต้นโครงการ แต่กลับทำให้คนไทยป่วยมากขึ้น อ่อนแอลง
เพราะการจัดการงบประมาณผิดทิศผิดทาง ไม่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสุขภาพให้กับประชาชน ไม่มีการส่งเสริมให้พื้นที่บริหารจัดการสุขภาพให้ประชาชนแข็งแรง ตลอดจนไม่จัดสรรงบประมาณให้เกิดแรงจูงใจในการส่งเสริมสุขภาพ ปัจจุบัน จึงกลายเป็นการจัดสรรงบประมาณแบบจูงใจให้เกิดโรค เป็นระบบ Sick care ไม่ใช่ Health care คนไทยจึงป่วยมากขึ้น ทั้งๆ ที่งบประมาณใช้มากขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับตอนเริ่มโครงการ
รวมทั้งไม่ควรจัดงบประมาณไว้ที่ส่วนกลางมากๆ แต่ควรส่งไปให้กับพื้นที่ให้มากกว่านี้ ประชาชนทุกพื้นที่ควรได้รับงบประมาณเท่าเทียมกัน รวมทั้งส่วนกลางต้องไม่กำหนดเกณฑ์การจัดสรรลงไปบังคับพื้นที่ ส่วนกลางแค่กำหนดเป้าหมายใหญ่ และทิศทางสุขภาพใหญ่เท่านั้น
ในช่วงที่เริ่มทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เราได้กำหนดเป้าหมายหลักให้ทุกพื้นที่ลดผู้ป่วย 3 โรคหลักคือ ไขมัน ความดัน เบาหวาน ที่เป็นต้นทางของโรคร้ายแรง ที่ทำให้ป่วยเสียชีวิต พิการ และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูงมาก โดยโครงการส่งเสริมป้องกันโรค รณรงค์ให้ความรู้เรื่องโภชนาการ และการออกกำลังกาย ปรากฎว่า อัตราการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ถึงกับสร้างสถิติระดับโลก อีกทั้งประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารปลอดภัยมากขึ้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า อัตราตายจากโรคหัวใจลดลง
ผลสำเร็จนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลกยกย่องชื่นชมรัฐบาลของเราในขณะนั้นว่ามีความกล้าหาญ และมีความสามารถในการทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ ให้โอกาสคนไทยทุกคนได้เข้าถึงการรักษา โดยมีคุณภาพการรักษาที่ทัดเทียมกันอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ ที่ได้ผลอย่างดียิ่ง และองค์การอนามัยโลกได้นำตัวอย่างความสำเร็จในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของประเทศไทย ไปใช้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จนถึงปัจจุบันนี้องค์การอนามัยโลก ก็ยังแสดงความชื่นชม และสนับสนุนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของไทย ให้เป็นต้นแบบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เพราะผู้ป่วยไม่ใช่ภาระ แต่คือประชาชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนต้องการมีสุขภาพดีกันทั้งสิ้น คงไม่มีใครอยากป่วยเพื่อไปรับการรักษาฟรี อย่างที่ผู้มีอำนาจบางคนออกมาพูด
ถ้าหากผู้มีอำนาจเข้าใจหลักการของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแท้จริง และจัดสรรงบประมาณอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ได้ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของทุกฝ่ายคือ ประชาชนผู้รับบริการก็มีความสุข และบุคลากรผู้ให้บริการก็มีความสุข งบประมาณก็จะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้”
https://www.facebook.com/khunyingsudarat/posts/1869982629747188?__tn__=K-R