ประธานศาลฎีกา เผยแพร่นโยบาย“สานต่อ เสริมสร้าง ส่งต่ออย่างยั่งยืน”

129

“นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล” ประธานศาลฎีกาคนที่ 50 เผยแพร่นโยบาย“สานต่อ เสริมสร้าง ส่งต่ออย่างยั่งยืน” พร้อมให้ปฏิบัติราชการด้วยความสง่างาม ตระหนักในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม ตามวิถีทางแห่งตุลาการ

วันนี้ (4 ตุลาคม 2567) เวลา 09.30 น. นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกาคนที่ 50 เผยแพร่นโยบาย “สานต่อ เสริมสร้าง ส่งต่ออย่างยั่งยืน” เป็นแนวปฏิบัติแก่ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ประจำปี 2567-2568 ภายใต้หลักการ “ยึดมั่นในหน้าที่ ตามวิถีตุลาการ”ที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนศาลยุติธรรมให้ตอบโจทย์ สอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทของสังคมในยุคปัจจุบัน และมีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต โดยมุ่งเน้นให้บุคลากรของศาลยุติธรรมตระหนักและยึดมั่นในการทำหน้าที่ ยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และจริยธรรมสูง พัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขยายโอกาสในการเข้าถึงและเข้าใจกระบวนการทางศาล ตลอดจนการให้บริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้

ในโอกาสนี้ นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 50 พร้อมกันนี้ประธานศาลฎีกาได้กล่าวให้คำมั่นด้วยว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อขับเคลื่อนองค์กรศาลยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และขอบคุณบุคลากรในองค์กรศาลยุติธรรม ทั้งผู้บริหารศาล ผู้พิพากษา ดะโต๊ะยุติธรรม ผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอม ข้าราชการศาลยุติธรรม พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมที่ได้ร่วมกันปฏิบัติราชการและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยดีตลอดมา และในปีนี้เชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจ ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ทางปฏิบัติเพื่อให้สัมฤทธิ์ประโยชน์แก่คู่ความ สังคม ประเทศชาติ และในระยะเวลา 1 ปีต่อจากนี้ ขอให้ทุกคนตั้งใจร่วมกันว่าศาลยุติธรรมจะปฏิบัติราชการด้วยความสง่างาม ตระหนักในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม ตามวิถีทางแห่งตุลาการ

​โดยแนวนโยบาย “สานต่อ เสริมสร้าง ส่งต่ออย่างยั่งยืน” สรุปได้ดังนี้
“สานต่อ” ได้แก่การส่งเสริมและพัฒนาตามแนวนโยบายที่ดำเนินการมาแล้วเพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนใน 6 ด้าน ประกอบด้วย

1. การอำนวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและความมั่นคงของสังคม

2. การระงับข้อพิพาททางเลือกโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงบริบทของแต่ละศาล

3. การนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน
เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดภาระในการปฏิบัติงานของบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน

4. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของศาลยุติธรรมด้านการศึกษา คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง
ในอนาคต

5. ส่งเสริมและพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของบุคลากร และบุคคลในครอบครัวของบุคลากร

6. ส่งเสริมและพัฒนาการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้เยาวชน และประชาชนเข้าใจ เข้าถึงกระบวนการทางศาล และรับรู้สิทธิของตนตามกฎหมาย

“เสริมสร้าง” ได้แก่การสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อการอำนวยความยุติธรรมตามภารกิจและหน้าที่ของศาลยุติธรรม ซึ่งมีด้วยกัน 9 ข้อ ประกอบด้วย

1. เสริมสร้างคุณภาพของคำสั่งและ
คำพิพากษาให้การทำคำสั่งและคำพิพากษาในข้อเท็จจริงเดียวกันเป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้ความสำคัญกับคุณภาพของคำสั่งและคำพิพากษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน

2.สร้าง พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาอบรม และการอบรมของข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม

3. ทบทวน และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสอบคัดเลือก ระบบการสอบคัดเลือก และการทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาให้เป็นที่ยอมรับ เสมอภาค และเท่าเทียม

4. สนับสนุนบทบาทของผู้พิพากษาอาวุโสเพื่อให้สามารถนำความรู้ ประสบการณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการศาลยุติธรรมและประชาชน

5. พัฒนาระบบการจัดการแหล่งความรู้ การเชื่อมโยงข้อมูล การสืบค้นข้อมูล คำสั่งและคำพิพากษาของศาล เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของผู้พิพากษาและบุคลากร ควบคู่ไปกับระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม

6. ยกระดับมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมให้สามารถนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเหมาะสม มาใช้ในการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์แก่ราชการศาลยุติธรรมและประชาชน

7. สร้างกลไกหรือรูปแบบการดูแลรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนประชาชนที่มาติดต่อราชการศาลยุติธรรม

8. ส่งเสริมการนำนวัตกรรมเพื่อลดขั้นตอนในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน

9. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของบุคลากรศาลยุติธรรม ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และประชาชน โดยพัฒนาช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องสำหรับบุคลากรศาลยุติธรรม

ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย รวมทั้งการปฏิบัติราชการของศาลยุติธรรม
ในรูปแบบต่างๆ ให้แก่เยาวชน และประชาชน
​“ส่งต่ออย่างยั่งยืน” ได้แก่การยึดมั่นและตระหนักในการทำหน้าที่ภายใต้กฎหมาย เพื่อความสงบสุขของสังคม ด้วยระบบคุณภาพและระบบคุณธรรม ประกอบด้วยกัน 6 ข้อ คือ

1. การสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้แก่ประชาชนโดยการปฏิบัติหน้าที่ และดำรงตนอย่างสง่างามตามประมวลจริยธรรม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบ ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการดำรงตนของผู้พิพากษา ข้าราชการศาลยุติธรรม ดะโต๊ะยุติธรรม ผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอม

2. สร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นคงปลอดภัย เพื่อผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยพัฒนาและดำเนินการในด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ กำหนดอัตรากำลังของเจ้าพนักงานตำรวจศาลให้มีความเหมาะสม, จัดระบบการบันทึกภาพและเสียงภายในห้องพิจารณาคดีและบริเวณศาลอย่างทั่วถึง

3. การอำนวยความยุติธรรมและการให้บริการประชาชนด้วยมาตรฐานเดียวกัน

4. พัฒนาระบบติดตามและประเมินผล เพื่อพัฒนาการปฏิบัติราชการศาลยุติธรรมจากข้อมูลที่ถูกต้องรวมทั้งผลการทำงานของแต่ละศาลให้มีประสิทธิภาพ

5. เชื่อมโยงและบูรณาการในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภายในศาลยุติธรรม หน่วยงานภายนอก และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

6. ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญเรื่องการลดการสิ้นเปลืองจากวัสดุอุปกรณ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญและส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และกำหนดมาตรการที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองจากการใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ศาลยุติธรรม