“วราวุธ”ปาฐกถาพิเศษ ดันเศรษฐกิจพอเพียง-นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร

1141

วันที่ 3 ตุลาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ภาคสังคมกับการสร้างชาติ” เวที Krungsri Business Forum ภายใต้หัวข้อ The Business Titans เพื่อให้ความรู้และแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมที่เป็นส่วนสำคัญ อีกทั้งเปิดโลกทัศน์ที่สะท้อนมุมมองการทำธุรกิจ การเงิน และสังคม เพื่อเอาชนะอุปสรรคและข้ามฝ่าขีดจำกัด ณ ห้องฉัตรา บอลรูม โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า ขอสะท้อนมุมมองด้านสังคม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจร่วมกับภาคธุรกิจ ในการเสริมสร้างประเทศไทยให้เข้มแข้ง ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งปัจจุบันการทำงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคธุรกิจเอกชน หมดยุคที่จะทำงานเพียงคนเดียวอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะการสร้างสังคมที่ดี แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่เราต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ คือ ตัวเราและครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในสังคม ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ซึ่งสังคมไทยเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ ในช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วม ดิน โคลนถล่ม ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้ได้สร้างความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ในขณะเดียวกันยังมีวิกฤตประชากร ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สภาวะของสังคมผู้สูงอายุแล้ว ไม่ใช่ Aging Society เป็น Aged Society หรือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อีกทั้งการลดลงของเด็กที่เกิดใหม่อยู่ในขั้นวิกฤต สรุปง่ายๆ อีกไม่เกิน 10 ปี คนไทยส่วนใหญ่จะเผชิญกับสถานการณ์ “แก่ก่อนรวย” และคนวัยทำงานจะต้องกลายเป็น “เดอะแบก”

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยในมุมมองของตนนั้น แบ่งเป็น 4 ส่วน ซึ่งส่วนแรก คือ หลักการเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนคนไทยในทุกระดับ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลก ส่วนที่ 2 ต้นทุน คือ ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นทุนพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานชีวภาพ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เราเน้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลับทำร้ายธรรมชาติ ส่วนที่ 3 นโยบายภาครัฐ เช่น BCG Model เป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และ “นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ของกระทรวง พม. ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และแต่ละยุทธศาสตร์มี 5 มาตรการ ดังนี้ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว และ ส่วนที่ 4 ภาคธุรกิจ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือสังคม โดยหลักการ ESG ซึ่งเป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนหนึ่งคือ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ซึ่งมีเป้าหมายทางสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐาน และความตั้งใจทำธุรกิจตามหลักการ ESG อย่างแท้จริง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยใช้ BCG Model จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน ประเทศไทยฝ่าวิกฤตต่างๆ มามากมาย บรรพบุรุษของเราสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็งมาได้จนถึงทุกวันนี้ พวกเรา ต้องรักษา และเสริมสร้างประเทศไทยให้มั่นคง ยั่งยืน เป็น Titan ในแบบของเรา ซึ่งเชื่อว่า เราทำได้แน่นอน หากทุกภาคส่วนรวมพลังขับเคลื่อน โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก “Being a Business Titan is not all about profit and money; it’s about sustainability and happiness for all.”

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #KrungsriBusinessForum