ที่รัฐสภา วันที่ 3 ตุลาคม ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กรณีเหตุอุทกภัยที่จังหวัดเชียงใหม่ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย และกำลังเผชิญกับอุทกภัยรอบใหม่ในวันนี้ โดย ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทยเป็นผู้ตอบแทน โดยระบุว่าจากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อประสานทุกหน่วยงานให้ช่วยบรรเทาผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงรับรู้ถึงความเดือดร้อนและความลำบากของประชาชน และเห็นช่องโหว่ในการบริหารจัดการ จึงมาตั้งกระทู้สดเพื่อเสนอและหาทางออกร่วมกับรัฐมนตรี โดยจะแบ่ง 3 คำถาม ออกเป็น 3 ช่วงเวลาการรับมือภัยพิบัติ นั่นคือ ช่วงก่อนเกิด ช่วงเผชิญเหตุ และช่วงหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ
ภัทรพงษ์ กล่าวว่า ช่วงก่อนเกิด คือ “การเตือนภัย” ซึ่งน้ำท่วมที่เชียงใหม่มีทั้งน้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง แต่การเตือนภัยที่เกิดขึ้นมีเพียงแบบเดียวคือ น้ำท่วมแบบเอ่อล้นตลิ่งจากแม่น้ำปิง แต่สำหรับน้ำป่า และน้ำท่วมขัง ระบบเตือนภัยไม่ดีพอ และแทบไม่มีแจ้งประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบกับน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังเลย ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ต้องประสบเหตุน้ำป่าโดยไม่สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ทันสร้างความเสียหายอย่างมากในหลายพื้นที่ ที่ผ่านมา สส. พรรคประชาชน ในพื้นที่ต้องแจ้งเตือนประชาชนกันเอง แม้กระทั่งน้ำที่เข้าท่วมในพื้นที่หางดง สันป่าตอง เมื่อเช้านี้ (3 ตุลาคม) นอกจากนี้ SMS ที่รัฐบาลส่งให้พี่น้องประชาชนก็มีเนื้อหาคลุมเครือ แทบไม่มีการใช้งานหอเตือนภัย ไม่มีการแบ่งปันข้อมูลเตือนภัยน้ำท่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่มีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ
ภัทรพงษ์ได้สอบถามรัฐบาลถึงระบบเตือนภัยสำหรับน้ำป่า และข้อมูลเตือนภัยที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ เพราะอุทกภัยอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องถึงปลายเดือนตุลาคม โดยเขาได้ยกตัวอย่างการแจ้งเตือนที่ใช้ในเขตพื้นที่อำเภอหางดงและสันป่าตอง ที่เริ่มแจ้งให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันล่วงหน้า 16 ชั่วโมง ระบุพื้นที่เสี่ยงและเวลาคาดการณ์น้ำท่วมชัดเจน และได้แจ้งเตือ อีกครั้งหนึ่ง 4 ชั่วโมงล่วงหน้าในช่วงตี 2 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนหลายครัวเรือนสามารถขนย้ายรถ สิ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทัน แต่มีเพียงตนเท่านั้นที่แจ้งเตือน ไม่มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานของรัฐเลย
สส.เชียงใหม่ถามถึง เมื่อแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยขึ้นแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย ให้อพยพ หรือสามารถอยู่ในบ้านได้โดยปลอดภัย มีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต และการจัดการกับโคลน หรือน้ำที่เท่วมขังให้ได้ ที่ผ่านมามักจะนึกถึงแต่การช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ประสบการณ์ที่ทีม สส. เชียงใหม่ พรรคประชาชน พบเจอกันมาคือ การกระจุกตัวอยู่บางพื้นที่เท่านั้น แต่ในหลายพื้นที่เช่น อำเภอสันกำแพง อำเภอสารภี อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง แทบไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย
ส่วนการจัดการน้ำ/จัดการโคลน ในแผนเผชิญเหตุส่วนใหญ่แทบไม่ได้กล่าวถึงไว้เลยว่าจะทำอย่างไร ถ้าเรามี “แผนเผชิญเหตุ” ที่ระบุผังน้ำและจุดสูบน้ำ/ระบายน้ำไว้ล่วงหน้า จะทำให้จัดการระบายน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ภัทรพงษ์ยังเสนอให้ รมว.มหาดไทย ส่งทีมลงประเมินความรุนแรงของภัยเพื่อยกระดับภัยพิบัติจากระดับเล็ก และกลาง ที่จังหวัดจัดการกันเอง เป็นระดับใหญ่ที่รัฐมนตรีจะลงมาดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งจะทำการแก้ไขปัยหาและฟื้นฟูเยียวยารวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันวงเงินทดรองราชการซึ่งเชียงใหม่ได้รับการขยายเป็น 100 ล้านบาทไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ขณะนี้ได้ใช้ไปแล้วกว่า 65 ล้านบาท แต่ยังมีพื้นที่ที่ประสบภัยและไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาอีกหลายพื้นที่ทั้ง เชียงดาว แม่ริม แม่แตง สันทราย เมือง สันกำแพง สารภี หางดง สันป่าตอง หางดง ขณะที่อุทกภัยรอบใหม่กำลังมา ซึ่งอาจทำให้เงินทดรองราชการไม่เพียงพอ รัฐบาลมีแนวทางที่จะขยายวงเงินทดรองราชการสำหรับเชียงใหม่ และจังหวัดที่ประสบภัยขนาดใหญ่อย่างไร รวมถึงอยากให้รัฐบาลยืนยันว่าผู้ประสบภัยจำนวนมากที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน จะไม่ถูกกีดกันจากการได้รับความช่วยเหลือ และเงินเยียวยา
ด้าน รมช. มหาดไทย ตอบคำถามโดยสรุปว่า เรื่องการแจ้งเตือนนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นผู้นำข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาประมวลก่อนแจ้งเตือนผ่านหน่วยงานที่เป็นหน่วยปฏิบัติ เช่น อำเภอ จังหวัด ปภ.จังหวัด ส่วนหน่วยงานอื่น รวมถึง สส. ที่ส่งข้อความให้ประชาชน หรือดำเนินการอื่นใด ไม่ถือเป็นการแจ้งเตือนตามกฎหมาย แต่เป็นการรายงานข้อมูล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเครื่องมือที่ต้องใช้ยังมีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ กำลังทำเรื่องขอใช้งบประมาณจาก กสทช. เพื่อทำให้มีเครื่องมือในการสังเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่การแจ้งเตือนประชาชนให้เกิดความถูกต้อง
ส่วนเรื่องการประเมินสถานการณ์ มีหลายหน่วยงานประชุมร่วมกัน คาดว่าในปี 2568 การดำเนินการเรื่องการแจ้งเตือนจะเป็นไปตามที่ สส.ภัทรพงษ์ ได้ส่งความกังวลมาให้รัฐบาลดำเนินการ ขณะที่ต้องยอมรับว่างบประมาณของท้องถิ่นในการดูแลเหตุภัยพิบัติ มีจำกัด อาจเกินกำลังของ อปท. จำเป็นต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาโดยเฉพาะ ปภ. การที่เชียงใหม่ขยายไปวงเงินทดรองราชการ 100 ล้านบาทนั้น ไม่ได้แปลว่าใช้ครบแล้วเงินจะหมด ยังขยายได้อีกเรื่อยๆ ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเยียวยาตามกรอบหลักเกณฑ์กฏหมาย
นอกจากนี้ ครม. ได้มีมติเรื่องการดูแลเยียวยาครัวเรือนที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งครัวเรือนหมายถึงคนที่เป็นผู้อาศัย อยู่บ้านเช่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดิน โดยให้ ปภ. เสนอแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการเยียวยาให้ ครม. พิจารณา เบื้องต้นมีตัวเลขเดียวคือประมาณ 9,000 บาท ส่วนเรื่องการส่งเสริมศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วันนี้หลายคนบอกว่าส่วนกลางไปเพิ่มภารกิจแต่ไม่ให้เงิน จึงกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้ 3 ส่วนนี้ ภารกิจ งบประมาณ และบุคลากร มีความสมดุล ให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ทำงานให้ประชาชนได้เต็มที่