ชาวบ้านโอดกฏหมายไม่เอื้อ บ้านพังซ่อมเป็นหมื่นแต่ไม่ได้เงินช่วยเหลือเพียงเพราะไม่ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ
นนทบุรี วันที่ 1 ต.ค.67 เมื่อเวลา 17.30 น.นาย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หรือเต้พระราม7 ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย
ผู้สมัครประชาธิปัตย์เขตเลือกตั้งที่ 1 นายวิชยุตม์ รอดศิลป์,เขตเลือกตั้งที่ 2 นายธนินท์ธร ภูมราช,เขตเลือกตั้งที่ 3 นายณรงคภูมิ ยังสี,เขตเลือกตั้งที่ 4 น.ส. สุพรรษา เย็นเพ็ชร,เขตเลือกตั้งที่ 6 นายสรเดช คลังทอง และ เขตเลือกตั้งที่ 7 นายสมศักดิ์ ด้วงโสน ร่วมลงพื้นที่สำรวจและเตรียมความพร้อมศูนย์เฝ้าระวังน้ำและภัยพิบัติ บริเวณ หมู่ 4,5,6,7 และหมู่10 ต.ท่าอิฐ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้นจากการที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในปัจจุบันนี้มีปริมาณสูงถึง 1,900-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที บวกกับช่วงนี้มีน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ชุมชนต่างๆภายใน ต.ท่าอิฐได้รับผลกระทบหลายหลังคาเรือน ชาวบ้านเดือดร้อนบ้านพังหลายหลัง ต้องใช้เงินตัวเองซ่อมหลักหมื่น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถช่วยเหลือได้เพียงเพราะยังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ
นาย มงคลกิตติ์ กล่าวว่าทีมงานได้ลงพื้นที่มา 2 วันแล้ว สำรวจการขึ้นลงและความสูงของระดับน้ำ ตอนนี้ไม่สามารถที่จะให้ทางส่วนราชการมาช่วยเหลือได้เนื่องจากว่ามันติดเรื่องระเบียบ ซึ่งวันนี้ตนก็ไปดูระเบียบมาแล้ว ซึ่งทางนายกรัฐมนตรี ได้แก้ระเบียบใหม่ให้บ้านทุกหลังที่ประสบอุทกภัยจะได้รับการช่วยเหลือจาก 5,000 บาท และ 7,000 บาท กลายเป็น 9,000 บาท ทั้งหมด แต่กรณีนั้นน้ำต้องท่วม 24 ชั่วโมงและไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ครั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ชุมชนที่อยู่สองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งกรุงเทพมหานคร ก็จะสังเกตว่าในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการปล่อยน้ำ มาจากเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 1,900 -2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ถึง ผนวกกับในช่วงเย็นของทุกวันน้ำทะเลจะหนุนสูง วันนี้จะสูงสุดประมาณ 3.06 เมตรจากระดับปกติ ทําให้เกิดน้ำล้นตลิ่งไหลไปเข้าบ้านพี่น้องประชาชน ซึ่งพอเราเข้าไปพบปะพ่อแม่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะตําบลท่าอิฐ จะสังเกตว่าริมตลิ่งน้ำเข้ามาหมดแทบทุกหลัง แต่ประเด็นสําคัญคือมันจะท่วมอยู่ประมาณวันละ 4-5 ชั่วโมงแล้วก็ยุบเป็นอย่างนี้มาหลายวัน ซึ่งตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยของปภ. มันชดเชยเยียวยาไม่ได้ ตนในฐานะที่ปรึกษา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานงานไปยังกรมบาดาลว่าจะเอาน้ำมาแจกพี่น้องประชาชน กรมบาดาลบอกว่าแจกไม่ได้เนื่องจากว่าจังหวัดนนทบุรีกับกรุงเทพมหานครไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ จึงไม่สามารถนําน้ำดื่มมาแจกให้พี่น้องประชาชนได้ จึงจะต้องไปแก้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยของปภ.เขาเรียกว่าระเบียบป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งในระเบียบนี้มันระบุไว้ว่าจะต้องท่วมเกิน7วัน24ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 30 วัน จะได้รับการช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อหลัง ถ้าเกิน30วันไม่เกิน60วันได้รับ 7,000 บาท ถ้าเกิน60 วันได้รับ 9,000 บาท เพราะฉะนั้นต้องไปแก้ระเบียบ ซึ่งในวันนี้ก็ได้นําผู้สมัครทั้งหมดทุกเขตมาดูสถานที่จริงว่าตกลง จะทํายังไงที่จะเยียวยาพี่น้องประชาชนได้ ได้ข้อสรุปคือต้องแก้ระเบียบของปภ.หรือระเบียบกระทรวงมหาดไทยซึ่งต้องไม่จํากัดเวลาในการท่วมเพราะว่าไม่ว่าจะท่วม 24 ชั่วโมงหรือท่วม 4 ชั่วโมง พี่น้องประชาชนเสียหายเหมือนกัน มันคือช่องว่างทางกฎหมายที่เราจําเป็นที่จะต้องไปแก้ไขในทันที
นาง เรียม บุญประเสริฐ อายุ 74 ปี กล่าวว่าตน
มีลูก 4 คน แต่เขาไปซื้อบ้านอยู่กันข้างนอก ตนอาศัยในบ้านหลังนี้เพียงคนเดียว ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเจ้าหน้าที่ อบต.ท่าอิฐและนักข่าวเข้ามาดูแล้ว แต่ไม่มีใครสามารถช่วยอะไรได้เลย ตอนนี้อยู่แบบทำใจ ฝาบ้านพังไปฝั่งนึงแล้วพวกงูกับตัวเงินตัวทองก็เข้ามาจากทางนั้น บางทีเดินๆอยู่ในบ้านงูพันขาก็มีแต่ตัวเองไม่กลัว พื้นบ้านที่พังไปลูกๆก็ให้เงินมาซ่อมแซมหมดไปเป็นหมื่น ตอนนี้ฝาบ้านพังอีก ไม่รู้ใครจะมาช่วย เคยคุยกับทางเจ้าหน้าที่อำเภอเขาบอกว่าช่วยเหลือไม่ได้เพราะยังไม่เข้าข้อกฏหมายและยังไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และนำยังท่วมไม่ถึง24ชั่วโมง ตนแค่สงสัยว่าน้ำท่วมแค่ช่วง18.00 – 22.00 น.ของทุกวัน และเป็นอย่างนี้มาอาทิตย์นึงแล้ว ข้าวของเสียหายไปแล้วแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานไหนช่วยได้ ตอนนี้ไม่เครียดแล้วเพราะคิดว่าคงไม่มีใครช่วยอะไรได้
ด้าน นาย สุเทพ เจ๊ะไบ๊ อายุ 64 ปี กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนก็มีความลำบากในการสัญจรเข้าออก ยิ่งบ้านที่อยู่ชานน้ำก็ยิ่งลำบาก ตอนเย็นๆคนที่มีรถก็ต้องขับรถออกไปจอดข้างนอกเพราะน้ำท่วม และระดับน้ำขึ้นสูงไม่เท่ากัน บางวันก็แค่หน้าแข้งบางวันเกือบถึงเอวก็มี ความเสียหายก็อย่างที่เห็น บางบ้านที่น้ำท่วมสูงก็เสียหายเยอะ หลังไหนที่ท่วมไม่สูงก็เสียหายน้อย ซึ่งในชุมชนบ้านสวนของหมู่6 มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ500กว่าหลังคาเรือน ยังไม่รวมหมู่อื่นๆอีก ซึ่งก็ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน ก่อนหน้านี้ก็มีเจ้าหน้าที่ อบต.ท่าอิฐลงพื้นที่มาดูแลอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่คอยดูแลกันเองมากกว่า ก็อยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเจ้าหน้าที่รู้ความทุกข์สุขของประชาชนก็ขอให้ได้ช่วยเหลือกันไม่มากก็น้อย