“เพิ่มพูน” เผย ผลการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ 33/2567 ยัน
ให้ความสำคัญการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมของหน่วยงาน และสถานศึกษาสังกัดศธ. ทั่วประเทศ มีมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟู หน่วยงาน/สถานศึกษา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ของศธ.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 33/2567 เมื่อวันพุธที่ 25 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ว่า การประชุมครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมของหน่วยงานและสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ โดยมีมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหน่วยงาน/สถานศึกษา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 การช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง เป็น “ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียน” ในอัตราเงินอุดหนุนรายหัว ของโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สพฐ. สช. (ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติและ รร.ที่ไม่รับเงินอุดหนุน) สอศ.รัฐและเอกชน สกร. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
มาตรการที่ 2 การช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูอาคาร สถานที่ และวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็น “ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด ซ่อมแซม ฟื้นฟูอาคารเรียน สิ่งปลูกสร้าง ห้องน้ำ ห้องสุขา และสภาพแวดล้อม ถนน หรือพื้นที่ในบริเวณสถานศึกษาที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอน” แก่หน่วยงาน สถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง สป. สพฐ. สอศ. สช. และ สกร. ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ให้กลับสู่สภาพปกติ สามารถปฏิบัติงาน และจัดการเรียนการสอนได้
แนวทางปฏิบัติ
1.เพื่อเป็นการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ในระหว่างสถานการณ์อุทกภัยยังไม่คลี่คลาย
-ให้โรงเรียนประกาศจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ
-ในระหว่างรอน้ำลด ให้โรงเรียนพิจารณาให้นักเรียนแต่งกายมาโรงเรียนได้ตามความเหมาะสม
-เพื่อแก้ปัญหาหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบนักเรียน ที่ได้รับความเสียหาย สูญหายจากเหตุอุทกภัย ให้โรงเรียนสำรวจความเสียหายและแจ้งให้ต้นสังกัดทราบ เพื่อช่วยเหลือเยียวยา โดยระบุจำนวนผู้ได้รับความเสียหาย พร้อมระดับชั้นเรียนด้วย
2.การประเมินระดับความเสียหายของหน่วยงาน สถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อการช่วยเหลือ ฟื้นฟู แบ่งเป็น 3 ระดับ
1.สีแดง ส่งผลต่อโครงสร้างอาคาร ไม่สามารถใช้งานได้
2.สีเหลือง ส่งผลต่ออาคาร แต่เปิดใช้งานได้/ใช้ได้บางส่วน
3.สีเขียว ไม่ส่งผลต่ออาคาร ใช้ได้ปกติ
2.ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของ สพฐ. และ สสวท.
-การนำเสนอร่างแผนการจัดอบรมครู (ครูแม่ไก่) เพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนวมาตรฐานสากล ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 3 วิชา วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ในรูปแบบผสมผสาน ทั้งออนไลน์และออนไซต์ หลักสูตร 5 วัน ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 จำนวน 8 รุ่น ๆ รุ่นละ 40 คนต่อวิชา รวม 960 คน จากนั้นจะขยายการอบรมสู่ครูระดับมัธยมศึกษาทุกสังกัดต่อไป
-การติดตามการประชุมการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้ และ Computer Based Test ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาสังกัด สช.ในส่วนภูมิภาคและ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการขับเคลื่อนในระดับสถานศึกษาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร
-การวางแผนการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในห้องเรียน ภาคเรียนที่ 2/2567
-การต่อยอดคุณภาพ โรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง Learn to earn การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต
“ให้จัดทำคู่มือและบันทึกเทปในการสร้างข้อสอบตามแนวมาตรฐานสากล แก่ครูคนอื่น ๆ อย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime พร้อมจัดอบรมแบ่งเป็น 4 ช่วงชั้นการศึกษา และเรียงลำดับความยากง่ายของข้อสอบในแต่ละช่วงชั้นการศึกษา เพื่อพัฒนาการสร้างข้อสอบแบบค่อยเป็นค่อนไป ตามนโนบายเรียนดี มีความสุข ต่อไป”
3.งบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการใช้จ่ายงบประมาณสูงสุดของหน่วยงานทั้งหมด 24 หน่วยงาน“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงานอย่างยอดเยี่ยม ส่วนที่ยังขาดไปให้ใช้เป็นบทเรียนในการดำเนินงานปีต่อไป”
4.คณะรัฐมนตรี“ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนกว่า 738 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดการเรียนการสอน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุนเงินอุดหนุนทั่วไป
การปรับปรุงกฎและระเบียบในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วทันการณ์
-ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีหน่วยงานในภูมิภาค มอบอำนาจให้หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยสามารถพิจารณาตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องประสบกับภัยธรรมชาติให้เท่าทันสถานการณ์ เช่น กรณีการปิดโรงเรียนของ ศธ.
-ให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เช่น ก.ค.ศ.พิจารณาความจำเป็นเหมาะสมและความเป็นไปได้ ในการออกกฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติเพื่ออนุญาต ให้บุคลากรในสังกัด สามารถเดินทางไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติได้ตามความจำเป็นเหมาะสมและความสมัครใจ โดยไม่ถือเป็นวันลา”