ป.ป.ส. เปิดประชุมปฏิบัติการพัฒนากระบวนการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้เสพ

372

ป.ป.ส. เปิดประชุมปฏิบัติการพัฒนากระบวนการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้เสพ/ผู้ผ่านการบำบัดรักษาด้วยศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมท้องถิ่น เชิญท้องถิ่นทั่วประเทศหารือระบบรายงานผล บสต. พัฒนารวมศูนย์กลางแบบ real time

วันที่ 24 กันยายน 2567 พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมายให้ นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากระบวนการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้เสพ/ผู้ผ่านการบำบัดรักษาด้วยศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมท้องถิ่น ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือของ ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาทักษะในการรายงานผลในระบบข้อมูลบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ท้องถิ่นจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้แทนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ส. รวมจำนวน 160 คน

นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงที่มาของการจัดการประชุมในครั้งนี้ว่า “ด้วยรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อันจะส่งผลต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ในนโยบายการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน โดยจะทำงานร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” รวมทั้งจัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครบทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามความเหมาะสม เพื่อดำเนินการสนับสนุน ช่วยเหลือ สงเคราะห์ อาชีพ และการศึกษา ตลอดจนประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเพื่อคืนคนคุณภาพสู่สังคม”

นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า “ตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศได้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจเพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กับประชาชนในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 64,863 โครงการ รวมงบประมาณ 14,792 ล้านบาท รวมถึงอุดหนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายยาเสพติดได้กำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติมใน 2 ประเด็นโดยให้ดำเนินงานศูนย์คัดกรอง ได้มีการจัดตั้งแล้ว จำนวน 3,113 แห่ง และการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมสาขาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้มีการจัดตั้งแล้วจำนวน 3,403 แห่ง จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานดูแล ช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เสพ/ผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้กลับคืนสู่สังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องแนวคิดการช่วยเหลือของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แนวคิดการฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด แนวทางการส่งต่อผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด แลกเปลี่ยนการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติด ทบทวนการดำเนินงานดูแล ช่วยเหลือของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งพัฒนาทักษะการรายงานผลในระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่านได้มีแนวทางเดียวกันในการรายงานผล ให้เป็นปัจจุบัน (real time) โดยการอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอ ทั้งนี้ คาดหวังให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเจตคติในการให้โอกาสผู้เสพกลับมาดำรงชีวิตในสังคม รวมทั้งบูรณาการการดูแลช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบต่อสังคมในระยะต่อไป

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ปปส.