ปปง. แถลงผลงานยึดทรัพย์สินกว่า 12,800 รายการ 70 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 4,700 ล้านบาทเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอีก 48 รายคดี
วันที่ 20 กันยายน 2567 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วย นายภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการ ป.ป.ท. นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 18กันยายน 2567 คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจดังนี้
1.ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 48รายคดี ทรัพย์สินกว่า 12,300 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ4,522 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในคดีสำคัญเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน เกี่ยวกับการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้(1.1)ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้กว่า10,900 รายการ มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ดังนี้
-รายคดี นายภีมพงษ์ฯ กับพวก ซึ่งสืบเนื่องจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วยกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ปปง. สืบสวนดำเนินคดีจนสามรถจับกุมนายภีมพงษ์ฯ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสำรวจทรัพย์สินฯ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินของนายภีมพงษ์ฯ กับพวก ซึ่งกรณีดังกล่าวมีพฤติการณ์ใช้กลอุบายหลอกลวงว่าพิกัดและแนวหมุดที่ดินที่จะสร้างถนนยื่นล้ำเข้ามาในพื้นที่ของสนามกอล์ฟ โดยนายภีมพงษ์ฯอ้างว่าตนสามารถดำเนินการขยับแนวให้สนามกอล์ฟเสียพื้นที่น้อยที่สุด แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขแบบ ของโครงการฯ และเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย จากการตรวจสอบพบว่านายภีมพงษ์ฯ ได้นำทรัพย์สินที่ได้ จากการกระทำความผิดไปจำนำที่โรงรับจำนำในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 77 รายการ (เช่น ทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง พระเครื่อง ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 26 ล้านบาท (คำสั่งย.170/2567)
-รายคดี นายประมวลฯ กับพวกซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีพฤติการณ์เรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งบริษัทผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จนนำไปสู่การสืบสวนจับกุมและตรวจค้นพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดเงินสดไว้แล้วเกือบ 7 ล้านบาท (คำสั่ง ย.241/2566) ในการนี้ ตรวจพบทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวนกว่า 10,800รายการ (เป็นทรัพย์สินประเภทพระเครื่อง) รวมมูลค่าประมาณ 14 ล้านบาท (คำสั่งย.173/2567)(1.2 )ความผิดเกี่ยวกับการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว 578 รายการ มูลค่ากว่า 1,042 ล้านบาท ดังนี้- รายคดี นายสง่าฯ กับพวก(เครือข่ายโกฟุก) ซึ่งสืบเนื่องจากการรายงานข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบข้อมูลการชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไป ทายผลพนันออนไลน์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเว็บพนันที่ใช้ชื่อต่างๆ เช่นhttps://huaynakaraj.com/ ,https://100larn.comโดยเปิดให้บริการเล่นเกมเสือมังกร, เกมสล็อตทุกรูปแบบ, ไก่ชน, มวย, หวยรัฐบาลไทยเป็นต้น โดยให้ผู้เข้าเล่นพนันโอนเงินเข้ามา ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารที่เครือข่ายผู้กระทำความผิดกำหนดไว้เป็นบัญชีรับโอนเงินพนันหรือบัญชีรับแทงหน้าเว็บไซต์ ซึ่งกลุ่มขบวนการจะโอนเงินต่อไปยัง บัญชีแถวที่สอง บัญชีแถวที่สาม บัญชีแถวที่สี่ และบัญชีแถวที่ห้า เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน จากการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 372 รายการ (เช่น เงินสด เครื่องประดับ ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 963ล้านบาท (คำสั่ง ย.210/2567)
-รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ฯ เครือข่ายเว็บไซต์ www.pg168.com ตรวจสอบพบว่ามีการโอนและรับโอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง
โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 146 รายการ (เช่น ที่ดิน เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์เนม และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 49 ล้านบาท (คำสั่งย.192/2567)- รายคดี นายกฤตภพฯ กับพวก เครือข่ายเว็บไซต์ www.i99bet.netซึ่งลักลอบจัดให้มีการเล่นการพนันทายผลฟุตบอล โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา เป็นที่ทำการเพื่อติดต่อกับลูกค้าผู้เข้าร่วมเล่นการพนันในประเทศไทย ตรวจสอบพบว่ามีการโอนและรับโอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 60 รายการ (เช่น ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร)มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท (คำสั่ง ย.169/2567) (1.3)ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว 107 รายการ มูลค่าประมาณ 3,165 ล้านบาท ดังนี้
-รายคดี นายอภิมุขฯ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์สืบเนื่องจากกรณีการทำคำสั่งซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE อันมีพฤติการณ์เป็นความผิด เกี่ยวกับการฉ้อโกงฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เข้าองค์ประกอบความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18)
ซึ่งสำนักงาน ปปง. ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินไปแล้ว 36รายการ มูลค่าทรัพย์สินเกือบ 5,400 ล้านบาท(ตามคำสั่ง ย.195/2565 และ ย.196/2565) ในการนี้ มีทรัพย์สินที่ตรวจพบเพิ่มเติม คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 19 รายการ (หุ้น และหลักทรัพย์) มูลค่ากว่า 168 ล้านบาท (คำสั่ง ย.172/2567)
ทั้งนี้ กรณี นายอภิมุขฯ กับพวกมีการแยกสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สินในความผิดเกี่ยวกับการปั่นหุ้น เนื่องจากการตรวจสอบของสำนักงาน ก.ล.ต. และการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่า มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (ปั่นหุ้น) อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (20) โดยพบข้อมูลว่ามีทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดจากพฤติการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 25 รายการ (เช่น ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่ากว่า 230 ล้านบาท (คำสั่ง ย.187/2567)- รายคดี นายสฤษฏ์ฯ กับพวก กรณีนี้ สำนักงาน ปปง. สืบสวนจากหนังสือร้องเรียนของประชาชน ซึ่งขอให้ช่วยดำเนินการคืนเงินที่ถูกอายัดบัญชีเงินฝากธนาคาร
เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมแล้วพบว่า เป็นกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีพฤติการณ์ชักชวนให้โหลดแอพพลิเคชั่น เพื่อเข้าลงทุนเทรดเหรียญดิจิทัล ซึ่งดำเนินการเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่หน้าที่เปิดบัญชีธนาคารไว้เพื่อรองรับการโอนเงินของผู้เสียหาย การสุ่มทักเฟซบุ๊กหาผู้เสียหาย หน้าที่พูดคุยชักชวนแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของผู้ต้องหา และยังมีการโอนเงินดังกล่าวต่อไปยังบัญชีของผู้ต้องหาอีกหลายบัญชี ประกอบกับตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ามีการโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดผ่านบัญชีเงินฝากหลายบัญชี มีการถอนเงินสด และนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปซื้อทรัพย์สินหลายรายการ มีบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนไทยและต่างชาติ ในการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 52 รายการ (เช่น ที่ดิน ห้องชุด และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า2,554 ล้านบาท (คำสั่ง ย.193/2567)
– รายคดี นายฉี ซู (MR.QU XIหรือ MR.XU QI) กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและความผิดฐานฟอกเงิน
กรณีกลุ่มจีนเทาร่วมกันหลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนและโอนเงินไปลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 133 รายการ มูลค่าประมาณ 596 ล้านบาท (ย.240/2566) และจากการสืบสวนขยายผลและตรวจสอบความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของขบวนการกระทำความผิด ตรวจพบความเชื่อมโยงทางการเงิน และพยานหลักฐานอันเชื่อได้ว่ามีทรัพย์สินที่ได้มาจากการรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 11 รายการ(รถยนต์ ชุดสงวนเลขทะเบียน ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 213 ล้านบาท(คำสั่ง ย. 174/2567)
ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) ในหัวข้อการตรวจสอบข้อมูลการยึดและอายัดทรัพย์สิน
2..ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 21 รายคดี ทรัพย์สิน 405 รายการ มูลค่าประมาณ 120 ล้านบาทโดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับ การจัดให้มีการเล่นพนัน ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ คดีความผิดเกี่ยวกับการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการยึดและอายัดทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) โดยมีทั้งส่วนที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นศาล รวมทรัพย์สินที่ดำเนินการ 155 รายการ มูลค่าทรัพย์สินกว่า 60 ล้านบาท ดังนี้- รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ www.wtf55.com
โดยกรณีนี้มีทรัพย์สินส่วนที่ยึดและอายัดไว้แล้วกว่า 90 รายการ มูลค่าทรัพย์สินกว่า 15 ล้านบาทซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจาณาชั้นศาล (ย.50/2567) โดยในการนี้ มีการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (เพิ่มเติม)จำนวน 36 รายการ (เช่น เงินสด ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 23 ล้านบาท (ย.120/2567)- รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ kingpin88.com ซึ่งกรณีนี้มีทรัพย์สินส่วนที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว 19 รายการ มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท (ย.9/2566) โดยในการนี้ มีการยึดและอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน(เพิ่มเติม) จำนวน 10 รายการ (นาฬิกา และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท (ย.119/2567)
3.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 1 รายคดี ทรัพย์สิน 27รายกามูลค่าประมาณ 116 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ คือ
-รายห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์โฆษณาข้อความชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุนในโครงการเกษตร เมื่อกดลิงก์ที่อยู่ในหน้าโฆษณา พบว่าเป็นลิงก์ที่เชื่อมต่อไปยังแอปพลิเคชันไลน์ ชักชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในคดีไปแล้ว 3 ครั้ง ตามคำสั่งที่ ย. 204/2565 จำนวน 21 รายการ คำสั่งที่ ย. 45/2566 จำนวน 3 รายการ และคำสั่งที่ ย.75/2566 จำนวน 4 รายการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1,386 ราย ในคดีหมายเลขดำที่ฟ.22/2566 ฟ.59/2566 และที่ ฟ.103/2566 ในการพิจารณาครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน 27 รายการ มูลค่าประมาณ 116 ล้านบาท (ย.133/2567)
ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง.ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th)
อนึ่ง โดยที่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ คำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย