นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

173

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เห็นชอบแผนปฏิบัติการ ระดับจังหวัด และการกำหนดพื้นที่เร่งด่วน ตามมาตรา 5 (10) แห่งประมวลกฎหมาย
ยาเสพติด เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการการประชุม ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมโดยเน้นย้ำถึงปัญหายาเสพติดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดเป็นหนึ่งใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งนี้ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในการดำเนินงาน 25 จังหวัดเร่งด่วน ซึ่งจากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงาน และรัฐบาลมีแผนที่จะขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยนำรูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ เช่น
ธวัชบุรีโมเดล จังหวัดร้อยเอ็ด และท่าวังผาโมเดล จังหวัดน่าน มาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการจัดสรรยุทโธปกรณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในทุกมิติ คือการปราบปราม การบำบัดฟื้นฟู และการส่งคืนผู้เสพเข้าสู่สังคม พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพให้แก่ผู้ผ่านการบำบัด เพื่อป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ

พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและข้อสั่งการ ที่สำคัญดังนี้

1.ขยายพื้นที่การดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญกับจังหวัดหลักในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร นราธิวาส และระยอง เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน
2.จัดทำฐานข้อมูล (DATA BASE) เพื่อรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
3.ขยายผลการดำเนินงาน ไปยัง 77 จังหวัด โดยทบทวนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาของ 25 จังหวัด
นำร่อง เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และลดการทำงานซ้ำซ้อน
4.การพัฒนาโมเดลการศึกษาในเรือนจำ ให้พัฒนาโมเดลการศึกษาในเรือนจำ เพื่อลดอัตราการกลับเข้าเรือนจำซ้ำ (Zero dropout) สร้างการศึกษาให้นักโทษในเรือนจำ
5.การสร้างการรับรู้ของประชาชน ให้สร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับกระบวนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงง่าย เช่น กระบวนการการทำลาย ยาเสพติดของกลาง เพื่อลดข้อสงสัย และสร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชน
6.การกำหนดระเบียบการยึดทรัพย์ ให้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้มีความชัดเจน เพื่อลดความซับซ้อนในการปฏิบัติงาน

พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องที่นำเสนอให้ทราบ 4 เรื่อง ประกอบด้วย สถานการณ์ปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ผลการดำเนินงานปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) ในพื้นที่ 25 จังหวัดเร่งด่วน และการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ต้นแบบธวัชบุรีโมเดล และท่าวังผาโมเดล

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ จำนวน 3 เรื่อง เพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ ได้แก่ แผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และการกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และผู้รับผิดชอบเพื่อการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามมาตรา 5 (10) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 13 จังหวัด 46 อำเภอ ประกอบด้วย พื้นที่อำเภอชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด 25 อำเภอ พื้นที่อำเภอชายแดนภาคเหนือ 6 จังหวัด 21 อำเภอ โดยกำหนดให้หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ นบ.ยส.24 มีแม่ทัพภาคที่ 2 (กองทัพภาคที่ 2) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้บัญชาการหน่วย มี ผอ.ปปส.ภาค 4 และ ผอ.ปปส.ภาค 3 เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม กำกับดูแลพื้นที่ชายแดนจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 รับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือ มีแม่ทัพภาคที่ 3 (กองทัพภาคที่ 3) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้บัญชาการหน่วย มี ผอ.ปปส.ภาค 5 และ ผอ.ปปส.ภาค 6 เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม กำกับดูแลพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และตาก

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์