กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวฟ้าทะลายโจรพันธุ์ใหม่

188

กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวฟ้าทะลายโจรพันธุ์ใหม่

กรมวิชาการเกษตร ซุ่มวิจัยฟ้าทะลายโจรพันธุ์ใหม่ “กวก. พิจิตร 1” ทึ่ง ! ให้ผลผลิตทั้งสดและแห้งสูงกว่าพันธุ์การค้า ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ชนะเลิศ

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจรที่สำคัญอยู่ในจ.พะเยา ปราจีนบุรี สงขลา กาญจนบุรี สุโขทัย นครปฐม มุกดาหาร ชุมพร อุบลราชธานี และนครสวรรค์ ในปี 66 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 1,136 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 502 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาขายเฉลี่ย 105 บาทต่อกิโลกรัม ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ซึ่งเป็นสารสำคัญมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์ไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยามีความต้องการปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ในวัตถุดิบฟ้าทะลายโจรไม่น้อยกว่า 1 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ดังนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ปรับปรุงพันธุ์ฟ้าทะลายโจรเพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง รวมทั้งมีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ตามมาตรฐานสมุนไพร

น.ส.เกษร แช่มชื่น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กล่าวว่า ปี 47 ศูนย์ฯได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรจากแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศไทยรวม 9 พันธุ์ จากนั้นปลูกคัดเลือกพันธุ์ละ 120 ต้น รวม 1,080 ต้น คัดเลือกต้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยแต่ละพันธุ์คัดเลือกไว้ 5 สายต้น พอมาปี 48 ปลูกสายพันธุ์ที่คัดเลือกเป็นแถวๆละ 10 ต้น คัดเลือกไว้ 2 ต้น แล้วนำไปวิเคราะห์ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ คัดเลือกต้นที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ มากกว่า 1.5 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ได้ 18 สายพันธุ์ จนปี 49-51 ปลูกคัดเลือกฟ้าทะลายโจร 3 ครั้ง พิจารณาความสม่ำเสมอของลักษณะทางการเกษตรคงเหลือ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ PCT4-4 สายพันธุ์ PLK5-4 และสายพันธุ์ CMI4-4

และเมื่อปี 52-53 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ฟ้าทะลายโจรเปรียบเทียบกับพันธุ์ราชบุรี (การค้า) 2 ฤดู ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร คัดเลือกไว้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ PCT4-4 และสายพันธุ์ PLK5-4 จากนั้น ในปี 64 นำทั้งสองสายพันธุ์ไปปลูกทดสอบพันธุ์ร่วมกับพันธุ์นครปฐมและปราจีนบุรี (การค้า) ดำเนินการ 3 แห่ง จนพบว่า ฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ PCT4-4 มีการเจริญเติบโต ผลผลิต และปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ทั้ง 3 สถานที่ดีกว่าพันธุ์นครปฐมและพันธุ์ปราจีนบุรีซึ่งเป็นพันธุ์การค้า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงเสนอขอรับรองสายพันธุ์ PCT4-4 เป็นพันธุ์แนะนำ โดยผ่านการพิจารณารับรองพันธุ์ในปี 67 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1”

“ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1” มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสดเฉลี่ย 2,073 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครปฐม 28% ซึ่งให้ผลผลิตสด1,620 กิโลกรัมต่อไร่ และสูงกว่าพันธุ์ปราจีนบุรี 43% ซึ่งให้ผลผลิตสด 1,454 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ผลผลิตแห้งเฉลี่ย 666 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์นครปฐม 28% ซึ่งให้ผลผลิตแห้ง 522 กิโลกรัมต่อไร่ และสูงกว่าและพันธุ์ปราจีนบุรี 52% ซึ่งให้ผลผลิตแห้ง 438 กิโลกรัมต่อไร่ ที่สำคัญฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1 ยังมีคุณสมบัติทางเคมีที่ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์สูงถึง 4.38 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม สูงกว่าพันธุ์นครปฐมที่ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 3.21 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม และพันธุ์ปราจีนบุรีที่ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 3.39 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม สำหรับความพร้อมของพันธุ์ในปี 67 มีเมล็ดพันธุ์ขยาย 1 กิโลกรัม สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ 50 ไร่ ซึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ 1,250 กิโลกรัม เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด“ฟ้าทะลายโจรพันธุ์ กวก. พิจิตร 1” เพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทร 09 5341 1179” น.ส.เกษร กล่าว.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์