ฝากเตือนนายกฯอุ๊งอิ๊งตั้ง”ผบ.ตร.”อย่าซ้ำรอย”ยิ่งลักษณ์-เศรษฐา”เชื่อตำรวจอยากให้กฎหมาย ตร.ขลัง องค์กรตำรวจจะกลับมาสง่างาม

3186



     
   เมื่อรัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ นอกจากจะขับเคลื่อนนโยบายที่แถลงไว้กับสภาผู้แทนราษฏรแล้ว จะต้องจัดทัพข้าราชการทุกกระทรวงตามวาระประจำปี

      แต่ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ น.ส.แพทองธาร ต้องกำกับดูแลโดยตรงตามที่กฎหมายตำรวจ 2565 กำหนดไว้ โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)มีบทบาทสำคัญในจัดทัพสีกากีระดับผู้บังคับการ(ผบก.)ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)


     ปีนี้จะแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่แทนพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เกษียณอายุวันที่ 30 กันยายน หากไม่มีอะไรพลิกผันคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนตุลาคมตาม กฎ ก.ตร. ใหม่ ที่ประกาศราชกิจจาฯ ใว้เมื่อ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 1567 ให้มีผลภายใน 180 วัน จึงจะมีการแต่งตั้ง รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติมีสิทธิ์แคนดิเดตทุกนาย มี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร อาวุโสอันดับ 1 พล.ต.อ.ไกรบูญ ทรวดทรง อาวุโสอันดับ 2 พล.ต.อ.สาราวุฒิ การพินิช อาวุโสอันดับ 3 (ซึ่งเกษียณ) และพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ อาวุโสอันดับ 4 หากนำหลักกฎหมายตำรวจ ปี 2565 มาจับและดำเนินการ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ  คือชื่อที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานก.ตร.ต้องนำเสนอให้ ก.ตร.ลงมติเห็นชอบ

แต่ที่ผ่านมาองค์กรสีกากีมักจะมีความไม่แน่นอน กฎกติกาการแต่งตั้งถูกละเลยบ่อยครั้ง เพียงเพื่อสนองความต้องการของผู้มีอำนาจที่อยากให้คนในสังกัดนั่งเบอร์ 1 สำนักปทุมวัน พฤติกรรมลักษณะนี้บรรดาตำรวจต่างรับทราบกันดี

แม้แต่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ต่างรู้ซึ้งเป็นอย่างดี ซึ่งสัมผัสได้จากการตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่าขอยืนยันว่าไม่เคยตั้งเป้าเรื่องการพิจารณาแต่งตั้งผบ.ตร. แค่คาดคิดยังไม่คาดเลย ผมได้ทำงานและเติบโตมาถึงวันนี้ได้ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาและดูแลประชาชนก็มีความสุขแล้ว

    ยิ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย ความไว้วางใจให้ยึดกฎกติกาในการแต่งตั้งโยกย้ายแทบจะไม่มี อย่างในยุคที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็หาช่องทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภรรยานายทักษิณ ชินวัตร ผงาดนั่งตำแหน่ง ผบ.ตร.

  ในห้วงเวลานั้นมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. แต่ด้วยอายุราชการของ พล.ต.อ.วิเชียร มีอีกหลายปีถึงจะเกษียณอายุ แต่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เหลืออายุราชการอีก 1 ปี เพื่อให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ สมหวัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ไปประจำสำนักนายรัฐมนตรี แล้วย้าย พล.ต.อ.วิเชียร ไปนั่งแทน เปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ผงาดนั่งตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามต้องการ

  ครั้นมาถึงยุคนายเศรษฐา  ทวีสิน ยึดแนวทางเดียวกันเพียงแต่ขั้นตอนแตกต่างกัน นั่นคือนายเศรษฐา หยิบชื่อของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันสุดท้ายให้ ก.ตร.ลงมติเห็นชอบ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอย่างหนักถึงคุณสมบัติของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เมื่อเทียบกับ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1  หลังแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ตามใบสั่งเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลหาทางออกให้กับ พล.ต.อ.รอย ด้วยการย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ทั้งสองกรณีมีเสียงนินทาล้วนแต่ไปตามที่นายทักษิณ วางแนวทางไว้เพื่อสนองตอบความต้องการของสมาชิกในครอบครัวและผู้มีพระคุณ

     คราวนี้มาถึงคิวของ น.ส.แพรทองธาร นั่งหัวโต๊ะชงชื่อ รอง ผบ.ตร.ให้ ก.ตร.ลงมติเห็นชอบ ถ้าน.ส.แพรทองธารและ ก.ตร.ปฏิบัติตามกฎหมายตำรวจอย่างเคร่งครัด พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ คือผบ.ตร.ที่จะรับไปไม้ต่อจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อย่างแน่นอน เพราะมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ เคยโชว์ภาวะผู้นำเมื่อครั้งนั่งตำแหน่งรักษาการ ผบ.ตร.ด้วยการเซ็นคำสั่งให้พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.ต้องคดีอาญาให้ออกจากราชการไว้ก่อน รวมถึงบทบาทในการบริหารงานสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ในทุกด้าน

“จนตำรวจหลายนายบอกว่าเป็นช่วงที่มีความสบายใจในการทำงาน”

แต่ในความแน่นอนย่อมมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นเสมอ ยิ่งนายกรัฐมนตรีที่มีเงาผู้บังเกิดเกล้ายืนทาบทับอยู่ เพราะมีข่าวสะพัดว่าโอกาสที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ จะผงาดนั่ง ผบ.ตร.เส้นทาง อาจจะไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะมีการปล่อยข่าวว่านายใหญ่มีนายพลตำรวจที่ต้องการอยู่ในใจแล้ว เพียงแต่ยังนั่งตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.อยู่ และจะเปิดทางให้ขยับขึ้น รองผบ.ตร.ในตำแหน่งที่ว่างจากนั้นจะย้ายไปนั่งเลขาธิการ สมช.แทน พล.ต.อ.รอย ที่จะเกษียณอายุ

 “ประดู่แดง”ฟันธงใว้เลยหากต้องการให้องค์กรตำรวจกลับมาสง่างาม ต้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เท่านั้น ได้แต่หวังว่าพวกปล่อยข่าวลือ คงไม่เคยอ่าน พ.ร.บ. ตำรวจปี 2565 และกฎ ก.ตร.ฉบับล่าสุด  เพราะหากฉีกกฏหมาย หาช่องให้เกิดขึ้นจริงกฎหมายตำรวจที่ใช้ความพยายามกันมาหลายปีกว่าออกมาบังคับใช้ก็ไร้ประโยชน์ แถมสร้างความแตกแยกในองค์กรที่เกิดแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนตำรวจกลายเป็นองค์กรที่ประชาชนขาดศรัทธา

    ดังนั้นการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ครั้งนี้จะไปในทิศทางไหนขึ้นอยู่กับ น.ส.แพรทองธารและ ก.ตร.ว่าจะยึดกฎหมายเพื่อให้คงความขลัง หรือจะซ้ำรอยเดิมแบบ น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายเศรษฐา จนกฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์ คงต้องติดตาม แต่ถ้าซ้ำรอยเดิมสำนักงานปทุมวันจะวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์อีกนานแสนนาน !!!