“สมศักดิ์”กำชับ สสจ.และรพ.ทุกแห่งรับมือฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน

193

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสถานบริการพื้นที่ภาคเหนือ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำ และจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ บริหารสถานการณ์ โดยส่วนกลางเตรียมพร้อมให้การสนับสนุน ล่าสุดยังมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด หน่วยงานสาธารณสุข 3 แห่งในพะเยาและเชียงราย ต้องปิดให้บริการ

วันนี้ (22 สิงหาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผ่านระบบทางไกลกับผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดประสบอุทกภัยและจังหวัดเสี่ยง เพื่อติดตามสถานการณ์และการเตรียมพร้อมรับมือ โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉินได้รายงานการคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2567 อาจเกิดพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา และน่าน, พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังระยะสั้น 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน และพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง 1 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย รวมทั้งต้องมีการเฝ้าระวังในจังหวัดสุโขทัยซึ่งจะเป็นพื้นที่รับน้ำในลำดับต่อไป



นายสมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดทำแผนรับสถานการณ์และซักซ้อมแผนอยู่แล้ว ได้กำชับให้ดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก คือ 1.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่รับน้ำ ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบ พร้อมทั้งรายงานกองสาธารณสุขฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง2. ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือลำน้ำต่างๆ ที่อาจจะมีน้ำล้นตลิ่ง หรือพนังกั้นน้ำพัง 3.กรณีมีเหตุการณ์สำคัญ/ฉุกเฉิน (DCIRs) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานไปยังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน 4.เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม อาทิ ฉี่หนู ตาแดง ไข้เลือดออก รวมถึงดูแลสุขอนามัยของประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย และ 5.จัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างเกิดอุทกภัย รวมถึงประเมินผลกระทบและดำเนินการฟื้นฟูต่อไป



ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ช่วงวันที่ 17 – 22 สิงหาคม 2567 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สะสม 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น เพชรบูรณ์ ลำปาง แพร่ น่าน ระดับน้ำคงตัว และอุดรธานี ระดับน้ำลดลง และมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยจังหวัดพะเยา และเชียงราย มีการเปิด PHEOC แล้ว ล่าสุดมีหน่วยงานสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 6 แห่ง ในจำนวนนี้ สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ 3 แห่ง และต้องปิดบริการ 3 แห่ง คือ รพ.สต.บุญเกิด จังหวัดพะเยา รพ.สต.ตับเต่า และ สสอ.เทิง จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา (16 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2567) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบกรณีอุทกภัยสะสม 24 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ที่มหาสารคาม 3 ราย แม่ฮ่องสอนและจันทบุรี จังหวัดละ 1 ราย สาเหตุจากการพลัดตกน้ำ/ลื่น/จมน้ำ และถูกน้ำป่าพัด ส่วนผู้บาดเจ็บมี 32 ราย อยู่ที่กาญจนบุรี 27 ราย และสุราษฎร์ธานี 5 ราย ร้อยละ 62.5 เกิดจากถูกของมีคม/แมลงสัตว์กัดต่อย รองลงมาเป็นน้ำกัดเท้า ข้อเท้าแพลง และลื่นล้ม ตามลำดับ ส่วนกลางได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 2,200 ชุด และยาชุดแพทย์แผนไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประกอบด้วย ยาฟ้าทะลายโจร 399 ขวด ยาเขียวหอม 75 ขวด ยาห้าราก 424 ขวด ยาหอมนวโกฐ 1,100 ซอง ยาปราบชมพูทวีป 569 ขวด ยาธุาตุบรรจบ 1,984 ซอง ยาจันทน์ลีลา 473 ขวด ยาสหัสธารา 572 ขวด ยาประสะจันทร์แดง 574 ขวด และยามันทธาตุ 424 ขวด

กระทรวงสาธารณสุข วาง 6 แผนดูแลด้านการแพทย์-สาธารณสุข ตลอดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนที่ “ไทย” เป็นเจ้าภาพวันที่ 23-26 สิงหาคมนี้ จ.บุรีรัมย์ จัดทีมแพทย์จาก 11 หน่วยงาน เป็นหน่วย EMS 34 ทีม และหน่วยปฐมพยาบาล 26 ทีม พร้อมแผนส่งกลับทั้งทางบกและทางอากาศ เตรียมพร้อมสถานพยาบาล การป้องกันควบคุมโรค และงานอนามัยสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (22 สิงหาคม 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยจะเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2567 ที่ จ.บุรีรัมย์ กระทรวงสาธารณสุขได้รับการประสานให้ดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขตลอดการจัดประชุม ซึ่งได้เตรียมความพร้อมการดำเนินงานแล้ว 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ประจำตามจุดต่างๆ คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ สถานที่จัดประชุม สถานที่พัก สถานที่ศึกษาดูงาน และสถานที่จัดเลี้ยง ตั้งแต่วันที่ 22 – 27 สิงหาคม 2567 จากหน่วยปฏิบัติการ 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลสตึก โรงพยาบาลนางรอง โรงพยาบาลบ้านด่าน โรงพยาบาลกระสัง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลลำปลายมาศ โรงพยาบาลประโคนชัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง มูลนิธิสว่างจรรยาธรรม และเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จัดหน่วย EMS 34 ทีม ในทีมมี แพทย์ 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 2 คน เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (AEMT) 1 คน พนักงานขับรถ 1 คน และหน่วยปฐมพยาบาล (AID) 26 ทีม ในทีมมีพยาบาลวิชาชีพ 2 คน และผู้ช่วยเหลือ 1 คน

2.แผนการส่งกลับสายการแพทย์ทั้งทางบกและทางอากาศ แบ่งเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ กทม. ได้ประสานศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กทม. เตรียมความพร้อม มีโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ, พื้นที่ระหว่างทางไปบุรีรัมย์ กรณีคณะผู้แทนต่างประเทศเดินทางโดยรถยนต์ ได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลในเส้นทาง และพื้นที่บุรีรัมย์ได้เตรียมแผนทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงไว้รองรับ 3.การเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล โดยเตรียมพร้อมระบบ Telemedicine ระบบ Fast Track ระบบ Fast Pass การสำรองโลหิต และห้องพักในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลลำปลายมาศ และโรงพยาบาลประโคนชัย 4.การป้องกันควบคุมโรค ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ทุกอำเภอ เฝ้าระวังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคไข้เลือดออก โรคพิษสุนัขบ้า และโรคอาหารเป็นพิษ 5.งานอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้ประสานเทศบาลเมืองบุรีรัมย์และเทศบาลตำบลอิสาณ อบรมและเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านสุขาภิบาลอาหาร จัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ตลอดการประชุมฯ รวมถึงกำกับตรวจสอบผู้สัมผัสอาหารในสถานที่ประชุม สถานที่พัก และสถานที่ศึกษาดูงาน และ 6. กิจกรรมอื่นๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้อบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานแก่คณะทำงานจัดประชุม

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน เป็นการหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อการประชุม “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล (Transforming Education to Fit in the Digital Era)” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษา (ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายในประเทศสมาชิกอาเซียน อาเซียนบวกสาม และสุดยอดเอเชียตะวันออก ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วม

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวสุขภาพสิ่งแวดล้อม