“ประชาชน” หวังรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” ทบทวนคำถามประชามติ รธน.

156

วันที่ 21 สิงหาคม 2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชช.) กล่าวภายหลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในวาระที่ 3 ว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผานมา คณะรัฐมนตรีมีมติว่าจะเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง โดยจะเริ่มทำประชามติและประกาศคำถามอย่างเป็นทางการ เมื่อการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้วเสร็จ ซึ่งในวันนี้สภาฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขในวาระที่ 3 แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการส่งร่างให้วุฒิสภากลั่นกรอง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ดังนั้นโจทย์สำคัญที่สุดขณะนี้คือการกำหนด “คำถามประชามติ” สำหรับประชามติครั้งแรก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในยุคนายเศรษฐา ทวีสิน เคยเสนอให้ใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งพรรคประชาชนมีความกังวลว่าการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงและไม่ประสบความสำเร็จ ด้วย 3 เหตุผล

พริษฐ์กล่าวว่า เหตุผลแรก คำถามประชามติที่ครม.เศรษฐา เสนอ เป็นการถาม 2 ประเด็นใน 1 คำถาม โดยมีการบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม อาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องหมวด 1 และ หมวด 2) มีความลังเลใจว่าควรจะลงมติเช่นไรที่สะท้อนเจตจำนงหรือจุดยืนของตนเอง และทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ

ประเด็นที่ 2 คำถามดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาในเชิงกฎหมาย เพราะปกติเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ การยกร่างเนื้อหาบางส่วนในหมวด 3 เป็นต้นไป อาจทำให้เกิดความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความในหมวด 1 และ หมวด 2 ให้สอดคล้องกันกับหมวดอื่นๆ แต่จะไม่สามารถกระทำได้หากไม่เปิดให้มีการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และ หมวด 2 ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ประเด็นสุดท้าย คำถามชุดนี้พิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญคือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง การปิดกั้นข้อเสนอจากประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะถูกมองว่าไม่สะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ไม่ได้ห้ามเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ก็มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 มาโดยตลอด

สส.บัญชีรายชื่อ ปชช. กล่าวว่า ดังนั้น พรรคประชาชน หวังว่าคณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ แพทองธาร ชินวัตรจะเห็นด้วยกับข้อกังวลดังกล่าว และทบทวนคำถามประชามติ โดยหันมาใช้คำถามที่มีลักษณะเปิดกว้างว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ)” ทั้งนี้พรรคยังมีญัตติเรื่องคำถามประชามติที่เสนอโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9(4) ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาได้ทันทีหากเห็นว่ามีความเร่งด่วน ในเมื่อรัฐบาลใหม่จะต้องตัดสินใจเรื่องคำถามประชามติในเร็วๆ นี้

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พรรคประชาชน #พริษฐ์วัชรสินธุ #พรบ.ประชามติ #แก้รัฐธรรมนูญ