นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านการแต่งตั้งผู้ต้องหาในคดีอาญามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ กปปส. ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อมาช่วยทำหน้าที่ ติดตามประสานเร่งรัดการดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และเรื่องร้องเรียนของประชาชน แลเป็นผู้ประสานงานรัฐสภา และการทำงานของวิปรัฐบาล รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น
การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีถือได้ว่าเป็นการขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 วรรคสอง บัญญัติ เนื่องจากผู้ที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้นศาลในคดีกบฏ ร่วมกับแกนนำ กปปส.อื่นอีกกว่า 30 ราย ซึ่งมีอัตราโทษที่สูง อันมีมูลเหตุมาจากการขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้ประเทศถดถอย จนเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร ของ คสช. โดยมีข้ออ้างว่าเพื่อรักษาความสงบ สร้างความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งการแต่งตั้งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการมืองในครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยต้องหันกลับไปคิดทบทวนเหตุผลของการทำรัฐประหารเสียใหม่ว่า แท้ที่จริง กปปส. กับ คสช. มีความสัมพันธ์แนบชิดกันมาก่อนหรือไม่อย่างไร
นอกจากนั้น การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรียังขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ที่กำหนดอยู่ในข้อ 19 แห่ง “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561” ที่ถูกนำมาใช้กับคณะรัฐมนตรีด้วย ที่กำหนดไว้ว่า “ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่”
ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่ขอเรียกร้องไปยังคณะรัฐมนตรีได้โปรดทบทวนการแต่งตั้งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนักการเมืองอื่น ๆ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา หรือผู้ที่ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายได้