จำได้ว่ายุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านสร้างวาทกรรมเหน็บรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าบริหารประเทศแบบรวยกระจุกจนกระจาย ช่วงหาเสียงประกาศก้องว่าเลือกเพื่อไทย ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแน่นอน พอพรรคเพื่อไทยมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั่งกุมบังเหียนประเทศ ความคาดหวังของประชาชนเริ่มบังเกิด
แต่บริหารประเทศมาได้ 1 ปี วาทกรรมรวยกระจุกจนกระจาย กลับมาหลอกหลอนประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ดีกว่ายุคพล.อ.ประยุทธ์ เลยแถมแย่ลงอีกต่างหาก จะมีดีเฉพาะธุรกิจผูกขาดไม่ว่าจะธุรกิจพลังงาน ธนาคาร แค่ 6 เดือนฟันกำไรกันนับแสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แทบจะเอาตัวไม่รอดต่างกู้หนี้ทั้งในและนอกระบบมาประคองยังยืนแทบไม่ได้
จากข้อมูลที่ น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยสำนักงาน รักษาแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)บอกว่าผลสำรวจด้านหนี้สินของกิจการเอสเอ็มอี ไตรมาส 2 ปี 2567 สำรวจต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 สอบถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2,701 ราย ทั่วประเทศพบว่าผู้ประกอบการมีภาระหนี้สินในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 64.3 เปอร์เซ็นต์จาก63.9 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“มีการกู้ยืมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจประมาณ 90.9 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้สินเดิมมากถึง 5.1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แสดงให้เห็นถึงการสร้างวงจรกู้หนี้ไปใช้หนี้เก่าที่อาจต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้น อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มในระบบ”น.ส.ปณิตาระบุและว่าสภาวะหนี้สินในไตรมาส2/67 พบว่าเอสเอ็มอีมีภาระหนี้สิน มีสัดส่วนการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงินสูงถึง 45.1 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยมีสัดส่วนการกู้เงินนอกระบบมากถึง 51 เปอร์เซ็นต์
น.ส.ปณิตา ระบุอีกว่า เอสเอ็มอีกว่า 21.3 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้จากแหล่งเงินทุนทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ และอีก 24.7 เปอร์เซ็นต์ของเอสเอ็มอีมีแนวโน้มขอยื่นกู้ไม่ผ่านมากขึ้น เพราะกำลังเผชิญกับปัญหาการชำระหนี้ทั้งล่าช้าและไม่เต็มจำนวน ส่วนเอสเอ็มอีที่ไม่มีภาระหนี้สิน ต้องการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนหรือปรับปรุงสถานประกอบการ มีคุณสมบัติไม่ผ่านเงือนไข
“ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อให้เอสเอ็มอีมีตลาดเพิ่มขึ้น สร้างรายได้จนสามารถชำระหนี้ได้…”น.ส.ปณิตาระบุ
จากข้อมูลนี้พอเป็นหลักฐานได้อย่างดีและพออนุมานได้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับกลางถึงรากหญ้าอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงถึงขั้นจะล้มละลายคงไม่ผิดนัก โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมเข้ามาอุ้มหรือพยุงให้ขับเคลื่อนไปได้เลย ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้ประชาชนต่างคาดหวังว่าเมื่อเข้าบริหารประเทศแล้วจะช่วยเหลือเยียวยาให้กลับฟื้นขึ้นมาเพราะมั่นใจในฝีมือของบรรดารัฐมนตรีที่ล้วนชำชองในเชิงธุรกิจมาแทบทั้งสิ้น แต่ถึงเวลาจริงกลับไร้ฝีมือมัวแต่บริหารอำนาจมากกว่าที่จะมองถึงปากท้องของประชาชน
ยิ่งมองลงไปถึงการค้าขายแบบชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวแกง อาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่คนระดับกลางถึงระดับรากหญ้าใช้บริการต่างอยู่ในภาวะที่ไม่คุ้มทุน เพราะราคาวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารทุกชนิดพาเหรดกันขึ้นราคา แม้แต่สินค้าที่รัฐบาลบอกว่าเป็นสินค้าควบคุมอาทิแก๊สหุงต้ม กำหนดราคาให้ขายแต่เมื่อซื้อจริงราคากลับสูงกว่าราคาควบคุมทั้งสิ้น
ขณะที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้ขยับตาม มนุษย์เงินเดือนหรือลูกจ้างรายวัน มีรายได้แทบไม่ยาไส้ แถมมีหนี้สินทั้งจากบัตรเครดิตหรือเงินกู้นอกระบบกันเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาเหล่านี้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะรับทราบแค่ไหน เพราะไม่เห็นมีมาตรการอะไรอออกมาช่วยเหลือประชาชนเลย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทำได้แค่จัดมหกรรมสินค้าลดราคาตามห้างใหญ่เท่านั้น ที่ทำหน้าที่โดดเด่นเห็นจะเป็นการประมูลข้าวที่รับจำนำไว้ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อหวังดิสเครดิตรัฐบาลเผด็จทหารมากกว่า
เมื่อทอดมองไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลห้วงเวลานี้เห็นจะมีเพียงแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท เท่านั้น แต่จะเกิดผลหรือแจกจริงช่วงปลายปี แถมมีเค้าว่าจะสะดุดเพราะมีกระแสต่อต้านค่อนข้างหนักทั้งแชร์ข้อความโจมตีผ่านสื่อโชเชียล บางกลุ่มเตรียมการร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าขัดกฎหมายอีกต่างหาก
แต่ถ้าสามารถแจกได้จริงต้องรออีกหลายเดือน กว่าจะถึงวันนั้นถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือประชาชนให้เกิดความรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าพอมีเก็บบ้างหรือพอใช้หนี้บ้างเชื่อว่ากว่าถึงวันรับเงินหมื่นรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อาจจะถึงวันอวสานก่อนแล้ว !!!