“กองทัพเรือขานรับนโยบายของรัฐบาล” และเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกำลังพล รองรับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรภาครัฐและประชาชนรายย่อย
วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้แทน ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี/ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และคณะ ในโอกาสเดินทางมาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลของกองทัพเรือ ณ ห้องสุพรรณหงส์ อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
นโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับบุคลากรภาครัฐและประชาชนรายย่อย ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.) ให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และ 2.) ให้สหกรณ์ออมทรัพย์พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 4.75 ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระได้ถึงอายุ 75 ปี และสามารถผ่อนชำระคืนเฉพาะส่วนที่เกินทุนเรือนหุ้น ซึ่งนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลได้กำหนดให้ทุกส่วนราชการนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคาร และสถาบันทางการเงินต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ในส่วนของกองทัพเรือโดยคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลของกองทัพเรือ นั้น ได้ทำการศึกษาและตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า ในปัจจุบันมีกำลังพลของกองทัพเรือที่รับเงินเดือนน้อยกว่าร้อยละ 30 มีจำนวนทั้งสิ้น 10,709 นาย หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนกำลังพลทั้งหมด 46,563 นาย จึงได้นำนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินมาสู่การปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับ 2 แนวทาง หลัก ประกอบด้วย
แนวทางการป้องกันปัญหาหนี้สินกำลังพล (Preventive Measures) มีการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
1.) ออกระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการหักเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนพนักงานราชการ เพื่อชำระเงินให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการ สหกรณ์และสถาบันการเงิน รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การจัดลำดับรายการที่หักจากเงินเดือน
2.) จัดทำหมายเหตุในใบรับเงินเดือนเพื่อแจ้งเตือนสถาบันการเงินต่าง ๆ กรณีที่กำลังพลมีรายรับสุทธิต่ำกว่าร้อยละ 30 ขอกู้เงิน เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการปล่อยกู้เงิน
3.) การพิจารณาก่อนการรับรองให้กู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้นำหลักเกณฑ์หลังจากการตัดเงินกู้แล้ว กำลังพลต้องมีรายรับสุทธิต่อเดือนคงเหลืออย่างน้อยร้อยละ 30
4.) การให้ความรู้ทางการเงินแก่กำลังพล เช่น การออม การลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) การบริหารจัดการทางการเงินให้เกิดประสิทธิภาพ และโครงการที่ให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน เป็นต้น
5.) การดำเนินโครงการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ เช่น การจัดรถรับ – ส่งกำลังพล การจัดงานขายสินค้าราคาประหยัด และกิจกรรมส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนด แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพล (Corrective Measures) ที่สำคัญ ดังนี้
1.) กำหนดให้หน่วยต้นสังกัดของกำลังพลทำหน้าที่เป็นที่เป็นคลีนิคปรึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเบื้องต้น และหากเกินขีดความสามารถของหน่วยให้พิจารณาเสนอคลินิกให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพล ทร.(สก.ทร.) เพื่อประสานกับสถาบันการเงินภายนอกในการแก้ไขหนี้ รวมทั้งให้คำปรึกษา คำแนะนำด้านกฎหมายและวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยมีที่ตั้ง ณ กรมสวัสดิการทหารเรือ รวมทั้งจัดทำเบอร์โทรศัพท์สายด่วนเพื่อให้กำลังพลที่เดือนร้อน สามารถขอคำปรึกษาได้
2.) สนับสนุนให้สหกรณ์ภายในกองทัพเรือมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี หรือต่ำกว่า รวมทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของสมาชิกสหกรณ์
3.) การพิจารณากรณีที่กำลังพลที่มีรายรับสุทธิต่อเดือนคงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 หากมีความจำเป็นต้องการกู้เงิน นั้นให้ผู้บังคับบัญชาของหน่วย ตรวจสอบรายได้เสริมอื่น ๆ เช่น การขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง การขายสินค้า/อาหาร เป็นต้น ว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้กู้เงินได้ โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นการช่วยเหลือกำลังพลที่มีความจำเป็นจริงและเดือนร้อน เพื่อป้องกันมิให้กำลังพลไปกู้เงินนอกระบบ
ในปัจจุบันการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลของกองทัพเรือมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดย ปัจจุบันได้มีการดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย
1.) สหกรณ์ภายในกองทัพเรือ จำนวน 7 แห่ง ได้ออกโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี หรือต่ำกว่า รวมทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว
2.) กองทัพเรือได้ออกระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการหักเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนพนักงานราชการ การทำหมายเหตุในสลิปเงินเดือน และการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดลำดับรายการที่หักจากเงินเดือนเรียบร้อยแล้ว
3.) ปัจจุบันมีกำลังพลที่รับเงินเดือนน้อยกว่าร้อยละ 30 เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินกับสหกรณ์ภายในกองทัพเรือ จำนวน 1,255 ราย และเข้าร่วมโครงการกับคลีนิกแก้หนี้ จำนวน 315 ราย รวมเป็นจำนวนกำลังพลที่มีความเดือดร้อนและสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,570 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของจำนวนกำลังพลที่รับเงินเดือนน้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งสิ้น 10,709 ราย โดยกำลังพลในส่วนที่เหลืออีก 9,139 ราย ที่ยังไม่ร่วมโครงการ นั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยต้นสังกัด ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่ากำลังพลในจำนวนนี้บางส่วนไม่มีความเดือดร้อนเนื่องจากมีรายได้ส่วนอื่นของครอบครัวให้การสนับสนุน และมีรายได้เสริมที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อย่างไรก็ตามกองทัพเรือจะได้เร่งการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้กำลังพลที่มีความเดือดร้อนได้เข้ามาร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป
4.) สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพลที่เข้าร่วมโครงการผ่านคลีนิกแก้หนี้ จำนวน 315 นาย ที่เป็นกำลังพลที่ประสบปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อน นั้น ปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาจบแล้ว จำนวน 199 ราย คาดว่าจะประสบผลสำเร็จ ในระยะเวลาอันใกล้อีกจำนวน 90 ราย และอยู่ระหว่างการรวมหนี้ ประนอมหนี้ และการเจรจากับเจ้าหนี้ อีกจำนวน 26 ราย ซึ่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป
#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#กองทัพเรือ