กลุ่ม608ป่วยโควิด19มีแนวโน้มเสียชีวิตสูงขึ้น

123

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคโควิด 19 รายสัปดาห์ ยังคงพบรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินความสามารถของระบบการรักษาพยาบาล ห่วงกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุป่วยหนักเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน แนะทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มากหรือแออัดควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์


วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด 19 โดยรวมพบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล สะสมตั้งแต่ต้นปี 31,205 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 172 ราย ในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 29 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,256 ราย เฉลี่ยวันละ 465 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 709 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 336 ราย และเสียชีวิต 16 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงขอเน้นย้ำให้กลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัดเมื่อเข้าไปในสถานที่เสี่ยง และเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด 19 โดยยึดหลัก D-M-H คือ D = Distancing เว้นระยะห่าง M = Mask Wearing สวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย H = Hand Washing หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เพราะมีโอกาสที่เราจะนำมือมาสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัวได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หากมีอาการสงสัยว่าป่วยควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากผลพบติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม และไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ


นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการติดตามโรคโควิด 19 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีลักษณะการระบาดเป็นฤดูกาลคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ หรือสัมพันธ์กับช่วงที่มีกิจกรรมการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น การเปิดเรียน การเข้าค่าย การฝึกทหารเกณฑ์ ซึ่งคาดว่าจำนวนการป่วยรายสัปดาห์จากโควิดจะยังเพิ่มขึ้นและน่าจะสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยปัจจุบันอัตราป่วยตายของโรคนี้ในภาพรวมเท่ากับร้อยละ 0.04 ถือว่าน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราป่วยตายในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 2.16 (ข้อมูล มิ.ย. 2564) สะท้อนว่าความรุนแรงของโรคโควิด 19 ลดลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากร ร่วมกับสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดไม่รุนแรง นอกจากนี้อัตราป่วยตายเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่ากับร้อยละ 0.7 ซึ่งลดลง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่าภาระโรคในปัจจุบันยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบการรักษาพยาบาล โรงพยาบาล ทั่วประเทศยังมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี


ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว เป็นช่วงฤดูกาลระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ จึงขอแนะนำประชาชนที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากพบผลติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัว ไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่นและรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เนื่องจากหากกลุ่มดังกล่าวติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนของกรมควบคุมโรค โทร. 1422

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #โควิด19 #ข่าวสุขภาพสิ่งแวดล้อม