รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารร่วมหารือด้านการสาธารณสุขและความมั่นคงกับผู้แทนระดับภูมิภาคของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการใช้ยาและสารเสพติดที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก
วันนี้ (21 มิถุนายน 2567) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือด้านการสาธารณสุขและความมั่นคง กับ ดร.มาซุด คาริมิปูร์ (Masood Karimipour) ผู้แทนระดับภูมิภาคของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และคณะ โดยกล่าวว่า ประเทศไทยทำงานร่วมกับหน่วยงานภายใต้การกำกับของ UNODC มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการยาเสพติด ซึ่งนโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนและสอดคล้องกับแนวทางของ UNODC ได้แก่ การดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือ CBTx ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน ร่วมดำเนินงานของชุมชน ตำรวจ สถานพยาบาล และหน่วยงานภาคประชาสังคม เพื่อความต่อเนื่องในการบำบัดรักษาและเกิดผลสัมฤทธิ์ระยะยาวในการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 180,263 ราย ในปี 2564 เป็น 194,329 ราย ในปี 2566 โดยเป็นการใช้ยาบ้ามากที่สุด รองลงมา คือ เฮโรอีน และกัญชา
“วันนี้เป็นการหารือกันเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและความมั่นคง โดยเฉพาะการใช้ยา รวมทั้งสารเสพติด ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ความท้าทายและแนวทางแก้ไขปัญหา การเยียวยาและลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดในชุมชน รวมถึงการส่งเสริมด้านกฎหมายและนโยบายการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและสังคม ตลอดจนความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่เป็นไปได้ในอนาคต โดยกระทรวงยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้ดำเนินงานสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งการจัดหายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ ได้แก่ Methylphenidate, Morphine, Fentanyl ให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ รวมถึงปรับปรุงระบบการขนส่งให้มีความรวดเร็ว เพื่อผู้ป่วยรับยาได้ทันการณ์, สนับสนุนภาคเอกชนพัฒนาวิจัยเพื่อผลิตยา เสริมสร้างความมั่นคงทางยา เพิ่มความพร้อมใช้ และปริมาณยาสำรองในประเทศทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน, ส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน, ดำเนินการตามแนวทาง “เส้นทางเดินของคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด” (Patient Journey) ในการดูแลบำบัดรักษา ฟื้นฟู ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความรุนแรงและซับซ้อนจนอาการสงบ และส่งต่อพื้นที่เพื่อการดูแลติดตามต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ไร้รอยต่อ ตลอดจนเปิดสายด่วนจิตเวชยาเสพติด 1667 ให้บริการแนะนำปรึกษาฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง