รองฯเต่า นำทีมตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงกรณีการตรวจยึดเรือบรรทุกน้ำมันของกลางที่หลบหนีไป

223

รองฯเต่า นำทีมตั้งโต๊ะใน ตร. แถลงชี้แจงยิบ คดีคืบหน้าคดีการสืบสวนสอบสวน กรณีการตรวจยึดเรือบรรทุกน้ำมันของกลางที่หลบหนีไป

วันนี้ (20 มิถุนายน 2567) เวลา 15.00 น. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. , พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง โฆษก ตร. , พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผบก.รน. และ พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. ร่วมแถลงความคืบหน้าคดีการสืบสวนสอบสวนกรณีการตรวจยึดเรือบรรทุกน้ำมันของกลางที่หลบหนีไป ณ ห้องสารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ด้วยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้จับกุมเรือ บ.ดิวันมารีนทัวร์ พร้อมน้ำมันเถื่อน 104,000 ลิตร จับกุมผู้ต้องหา 1 ราย บริเวณท่าเทียบเรือ กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี (พบเรือที่เกาะทะลุ จ.ระยอง) จากการซักถามลูกเรือรับว่า รับน้ำมันเถื่อนมาจากเรือใหญ่จำนวน 2 ลำ บริเวณกลางอ่าวไทย ใกล้แท่นขุนเจาะน้ำมันจัสมิน จึงได้ทำการสืบสวนขยายผลกรณีดังกล่าวเรื่อยมา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต และเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 28 คน พร้อมด้วยของกลาง เรือบรรทุกน้ำมัน จำนวน 5 ลำ และน้ำมันรวม จำนวน 325,000 ลิตร ในความผิดฐาน “ร่วมกันพยายามลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งน้ำมันที่มิได้ผ่านพิธีการศุลกากร” ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของ กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) โดยมอบหมายให้ กองบังคับการตำรวจน้ำเป็นผู้ดูแลรักษาเรือบรรทุกน้ำมันและน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางไว้ที่ สถานีตำรวจน้ำสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพัทยา ได้ประกาศเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือ ในช่วงวันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2567 มีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ได้มีพายุฝนฟ้าคะนอง เกิดกระแสลมแรง จะทำให้ท่าเทียบเรือตำรวจน้ำสัตหีบ ไม่สามารถรับน้ำหนักเรือของกลางทั้งหมดได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ เกรงว่าเรือของกลางและท่าเทียบเรือจะได้รับความเสียหาย จึงให้เรือของกลาง จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือ เจ.พี., เรือกำไรเงิน หรือซีฮอส, เรือดาวรุ่ง และเรือกำไรเงิน (เหล็ก) ออกไปทิ้งสมอในระยะปลอดภัย โดยมีระยะห่างจากท่าเทียบเรือตำรวจน้ำ ประมาณ 100 เมตร กระทั่งวันที่ 12 มิถุนายน 2567 เวลา 06.00 น. พบว่าเรือทั้ง 3 ลำ คือ เรือ เจ.พี., เรือกำไรเงินหรือซีฮอส และเรือดาวรุ่ง ได้เคลื่อนเรือหายไป ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.) โดย พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ/ผอ.ศปนม.ตร. ได้สั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ลงพื้นที่เร่งสืบสวนหาข่าว แสวงหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มเครือข่ายดังกล่าว

กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ทำการสืบสวน สอบสวนประเด็นข้างต้น พบว่าเรือทั้ง 3 ลำ (เรือ เจ.พี., เรือกำไรเงินหรือซีฮอส และเรือดาวรุ่ง) ได้เคลื่อนหายออกจากบริเวณ ท่าเรือ สถานีตำรวจน้ำสัตหีบ ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 20.11 น. โดยมีคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 15 คน เป็นลูกเรือเดิม 14 คน และลูกเรือใหม่ 1 คน เชื่อว่ามีกลุ่มผู้อิทธิพล อยู่เบื้องหลังเป็นผู้สั่งการ คอยให้การสนับสนุน และเชื่อว่ากลุ่มผู้ต้องหามีการวางแผนและตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันกองบังคับการตำรวจน้ำ ที่เร่งออกติดตามค้นหาเรือของกลางดังกล่าว ในพื้นที่อ่าวไทยตามเส้นทางและพื้นที่ต้องสงสัย กระทั่งพบขบวนเรือน้ำมันทั้ง 3 ลำ บริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะเจาะจง (EEZ) พิกัด 8.333333,101.833333 เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำได้เข้าควบคุม และแสดงตัวขอทำการตรวจสอบเรือและลูกเรือทุกคน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำได้ควบคุมเรือพร้อมลูกเรือจำนวน 8 คน มายังสะพานเทียบเรือ กก.7 บก.รน.(สงขลา)

ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำได้ควบคุมเรือทั้ง 3 ลำ พร้อมตัวลูกเรือ จำนวน 8 คน เข้าท่าเทียบเรือ กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ (สงขลา) จากการตรวจสอบเบื้องต้น เป็นเรือของกลางที่ได้หายไป พร้อมน้ำมันที่มีค่ากำมะถันเกินกว่ากฏหมายกำหนด จำนวน 18,000 ลิตร จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันลักทรัพย์ ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใดๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน หรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เองหรือสั่งให้ผู้นั้น หรือผู้อื่นส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม และเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด” จากนั้นนำตัวผู้ต้องหาและของกลางทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อนึ่ง กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปราม และกองบังคับการตำรวจน้ำ มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรได้เนื่องจาก พ.ร.บ.เพิ่มอำนาจตำรวจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางน้ำ พ.ศ.2496 มาตรา 3 และมาตรา 5 ระบุให้อำนาจตำรวจน้ำ สามารถดำเนินการเกี่ยวกับเรือซึ่งใช้เดินทางออกไปสู่หรือเข้ามาจากทะเลหรือระหว่างราชอาณาจักรกับดินแดนต่างประเทศได้

นอกจากนั้น ตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกัน ปราบปราม การลักลอบจำหน่ายน้ำมันเถื่อน พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผอ.ศปนม.ตร. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล โดยการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในส่วนของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กองทัพเรือ ฯลฯ หน่วยงานภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งผลการปฏิบัติที่ผ่านมา ข้อมูลสถิติการจัดเก็บภาษีรายได้สรรพสามิตรในห้วงปี 2567 เปรียบเทียบกับปี 2566 จะเห็นได้ว่าในปี 2567 รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าปี 2566 ได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 80 – 100 ซึ่งเป็นการเก็บภาษีน้ำมันที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนอย่างมีนัยยะสำคัญ

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ข่าวอาชญากรรมวันนี้