นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รายงานถึงความคืบหน้าการเตรียมคลายล็อกพรรคการเมือง ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้คุยกันเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยต้องการให้
1.พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้
2.ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งได้
3.สามารถดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้
4.ตั้งกรรมการเพื่อสรรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ และ
5.ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้ ส่วนข้อ 6.นั้นจำไม่ได้ แต่ไม่ใช่การหาเสียงเลือกตั้งแน่นอน
“เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดทางให้สามารถดำเนินการได้ และการใช้ม.44 ก็ไม่เห็นจะเป็นประเด็นอะไร เพราะคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 นั้นเปรียบเหมือนกฎหมาย การจะปรับเปลี่ยนคำสั่งนี้ก็จะต้องออกกฎหมาย โดยม.44 แต่ไม่ทราบว่า คสช.จะออกคำสั่งได้เมื่อใด ส่วนการทำไรมารีโหวตนั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด เพราะกำหนดเพียงให้รับฟังความเห็นของสมาชิกพรรคในการเลือกผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีหลายวิธีการ แต่ไม่ขอบอกว่าจะเสนอให้ คสช.เลือกรูปแบบใด แต่จะบอกถึงข้อดี ข้อเสีย ทุกรูปแบบ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า การที่จะเสนอคสช.ได้เมื่อไหร่ คงไม่ต้องพูดเพราะจะก่อให้เกิดการคาดการณ์ เกิดความสับสนอลหม่าน มีการขยายผล มีการวิจารณ์ ด่าไปก่อน ทำให้ทุกอย่างไขว้เขว่ไปหมด ส่วนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าพร้อมเซ็น เมื่อมีการเสนอมานั้นหมายถึง พร้อมเซ็นเมื่อมีการพิจารณาแล้วเสร็จ โดยต้องเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม คสช.ก่อนจะมีการปรับปรุง และยื่นให้หัวหน้าคสช.เซ็น
ผู้สือข่าวถามว่า เมื่อทำไพรมารีโหวตเสร็จพรรคการเมืองจะสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้ เพราะการหาเสียงเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) กำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองจะลงพื้นที่พบปะประชาชนหลังทำไพรมารีโหวตได้หรือไม่นั้นจะต้องถามกกต.
ส่วนที่กรณีการกำหนดวันเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.กางปฏิทินเบื้องต้นว่าจะสามารถออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในเดือน ม.ค. 62 แล้วจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 24 ก.พ.62 นั้น เป็นสมมติฐานของกกต. คิดว่าไม่มีปัฐหาในเรื่องของระยะเวลาเพราะสมัยที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีเวลาเตรียมตัวเลือกตั้งแค่ 20 วัน จนทำให้ พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท ต้องขึ้นป้ายหาเสียงว่า คิดไม่ทันพี่น้องเอ๋ย เลือกกิจสังคม จึงไม่มีปัญหาเรื่องระยะเวลา
“การประกาศเพียงสั้นๆ การหาเสียงก็จะสั้น บางคนอาจรู้สึกว่าเสียเปรียบ แต่บางพรรคอาจชอบใจ เหมือนที่หนังสือพิมพ์เขียนวันนี้ว่าทุกพรรคการเมืองอยากให้การเลือกตั้งสั้นทั้งนั้นเพราะจะได้จ่ายเงินน้อย แต่ก็ยังขาดการสร้างความรู้ความเข้าใจ การตัดสินใจเลือกนโยบายของพรรคต่างๆ ทางที่ดีที่สุดคือเอาให้พอดี เพราะอย่าง 20 วันก็สั้นเกินไป 90 วันก็ยาวเกินไป”นายวิษณุ กล่าว