องคมนตรี ตรวจเยี่ยมรพ.พระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จว.นครราชสีมา

365

องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานของโรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดนครราชสีมา มีโครงการขจัดโรคเบาหวานด้วยศาสตร์พระราชา ช่วยผู้ป่วยคุมระดับน้ำตาล หยุดยา/ลดยาเบาหวานได้สำเร็จ ลดค่ายาเบาหวานได้ 2,900 – 4,600 บาท จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์เฉพาะทาง พร้อมดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการมองเห็น ด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว

วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) ที่ โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดนครราชสีมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล พร้อมด้วย นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานสำคัญของโรงพยาบาล พร้อมให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และมอบของเยี่ยมให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ

นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยจัดทำโครงการขจัดโรคเบาหวานด้วยศาสตร์พระราชา ได้จัดตั้งโรงเรียนเบาหวานวิทยาและคลินิกเบาหวานหายได้ มีผู้ป่วยเข้าร่วมคลินิกเบาหวานหายได้ จำนวน 30 ราย ในจำนวนนี้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับดี และสามารถหยุดยาเบาหวานได้ 14 ราย ส่งผลให้ค่ายาลดลง 4,618.50 บาท และสามารถลดปริมาณยาได้ 11 ราย ค่ายาลดลง 2,916 บาท และยังจัดโครงการพาหมอไปหาประชาชน โดยแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์และ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ช่วยให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์สถาบันโรคผิวหนังแห่งชาติ 139 ราย โดย ตรวจประเมินและรับรองการพิการผ่านระบบ Telemedicine โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ 12 ราย ผ่าตัดตาต้อกระจก โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) 25 ราย ในปี 2567 ตรวจพัฒนาการเด็กผ่านระบบ Telemedicine 13 ราย และบริการครอบฟันดิจิทัล โดยสถาบันทันตกรรม 20 ราย

สำหรับการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการมองเห็น ด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation & Mobility) ในเขตอำเภอพระทองคำมีคนพิการทางการมองเห็น 447 ราย ได้จัดบริการไปแล้ว 170 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 ของผู้พิการทางการมองเห็นทั้งหมด และในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ มีแผนจัดอบรมอีก 20 คน นอกจากนี้ ยังดำเนินการโรงพยาบาลสีเขียว พัฒนาโรงพยาบาลสู่รมณียสถาน โดยจัดทำมาสเตอร์แพลนพื้นที่สีเขียวของโรงพยาบาลร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นดิน ร้อยละ 80 และเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนอาคาร ร้อยละ 40 พร้อมทั้งยกระดับพฤติกรรมการบริการของบุคลากร ให้บริการด้วยหัวใจ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการด้วย

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวกทม