“ดร.จ้ำ” กระตุ้นรัฐบาลเร่งสร้างระบบนิเวศ ศก.สีเขียว

509

ที่ปรึกษากมธ.ต่างประเทศชี้แทรนด์เศรษฐกิจสีเขียวโลกมาแรง เสนอรัฐบาลเร่งบังคับใช้กม.ให้สอดคล้องนานาชาติ พร้อมออกนโยบายเพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ดร.ประเสริฐ “ดร.จ้ำ” พัฒนผลไพบูลย์  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และ อนุกรรมาธิการ ศึกษาแนวทางการลงทุนระหว่างประเทศภายใต้กรอบของหลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกะดับขีดความสามารถด้านการลงทุนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ว่าแนวโน้มการค้าการลงุทนระหว่างประเทศในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมถูกนับว่าเป็นเสาหลักหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

สหภาพยุโรปจึงมีนโยบายแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ที่ครอบคลุมประเด็นอาทิ การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 40% ในปี 2573, การกำหนดนิยามกิจกรรมของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Products),  การเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นต้น ซึ่งอาจถูกมองว่ามาตรการเหล่านี้เป็นการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barriers)

ที่ปรึกษา กมธ.ตปท.กล่าวว่า หากรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และSME สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าประเทศคู่แข่งที่ส่งออกกลุ่มสินค้าใกล้เคียงกันก็จะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และจะช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ให้ธุรกิจของไทยยึดมั่นในหลักการ United Nations Global Compact ของทางสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ดีขึ้น รวมถึงผลักดันการบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศยิ่งขึ้นอีกด้วย

ดร.จ้ำ กล่าวว่า มาตรการสร้างแรงจูงใจและการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อสร้างระบบนิเวศทางกฏหมาย ที่เกื้อหนุนการปรับตัวของทั้งธุรกิจSME ผู้ประกอบการรายย่อย และ ธุรกิจที่มีการลงทุนข้ามพรมแดน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องเร่งผลักดันอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ให้มีระบบจัดเก็บข้อมูลที่ทันสมัยเป็นสากล และให้การผลิตสินค้าต้องปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ภาษี การต่อต้านการทุจริต และระเบียบด้านศุลกากร ตัวอย่างเช่น  มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)ของทางสหภาพยุโรป

ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากด้านการวางระบบการวัด การรายงาน และการทวนสอบการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม ที่มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมากกว่ากลุ่มสินค้าอื่น ซึ่ง CBAM มีส่วนทำให้ผู้ดำเนินนโยบายเร่งพัฒนาระบบนิเวศด้านการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล เช่น ระบบการวัดและทวนสอบคาร์บอน ตลาดคาร์บอนเครดิต Thailand Taxonomy และการผลักดันกฎหมายลดโลกร้อนต่างๆ  เช่นเดียวกับโอกาสของภาคการเงินการธนาคารที่มีบทบาทสนับสนุนภาคธุรกิจที่ต่างแข่งขันกันลดก๊าซเรือนกระจกบนเส้นทางที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใต้สังคมสีเขียว ที่จำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนรองรับค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

ดร.ประเสริฐกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและต้องการระดมทุนเพื่อการปรับตัว จะอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีสีเขียว อาทิ พลังงานหมุนเวียน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน แบตเตอรี่ พลังงานไฮโดรเจน อาคารสีเขียว รวมถึงโอกาสของตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมหาศาลจากทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ตามทิศทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ประเทศไทยมีโอกาสบรรลุเป้าหมายสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่สำคัญ

กรณีกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) กำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ 7 กลุ่มของสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ (Derived products) อาทิ ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ เครื่องหนังสัตว์ ต้องตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม  

โดยสินค้านำเข้าจะต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ ของประเทศผู้ผลิต อาทิ กฎหมายที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และภาษี ที่ได้รับการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence) ตามขั้นตอนที่สหภาพยุโรปกำหนด โดยผู้ประกอบการต้องส่งรายงานการตรวจสอบ (Due Diligence Statement) ก่อนจะนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ซึ่งการตรวจสอบและประเมินประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิต (ปริมาณและรหัสของสินค้า ประเทศที่ผลิต พิกัดทางภูมิศาสตร์ของแปลงปลูก Geolocation วันที่และระยะเวลาการผลิต), การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า  ซึ่งครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยประเมินออกมาในรูปเอกสารที่มีผลสรุปความเสี่ยง และต้องทบทวนอย่างน้อยทุกปี เป็นต้น  

ดร.ประเสริฐกล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยไม่หลุดออกจากห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนโลก เราจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการปรับตัวของผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรักษาและเพิ่มพูนขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ และสร้างโอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป หากสินค้าไทยมีความพร้อมในการตรวจสอบและยืนยันที่มาของผลิตภัณฑ์มากกว่าประเทศคู่แข่ง และการปรับตัวสู่มาตรการ EUDR อันเป็นแรงผลักจากนโยบายสิ่งแวดล้อมภายนอก จะช่วยให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและจริงจังกับการดูแลรักษาป่ามากขึ้น  โดยเฉพาะเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2580 อันจะส่งผลให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #ดร.จ้ำประเสริฐพัฒนผลไพบูลย์ #การปฏิรูปสีเขียว #การเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน #กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า